พาณิชย์แนะเอกชนผลิตสินค้าให้แตกต่างเพิ่มความได้เปรียบคู่แข่งในกระแส FTA

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 29, 2016 18:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอดุลย์ โชตินิสากรณ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยในงานสัมมนา "ก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 การค้าเสรีของไทยจะก้าวเดินต่อไปอย่างไร"ว่า แนวโน้มในอนาคตประเทศต่างๆ จะจัดทำข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น หากผู้ประกอบการไทยจะใช้ประโยชน์จาก FTA ต้องเตรียมความพร้อมพัฒนาสินค้าและบริการให้มีมาตรฐาน ใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อน ซึ่งจะทำให้สามารถแข่งขันได้

"ต้องทำสินค้าและบริการให้มีความแตกต่างจากประเทศคู่แข่ง เพราะถ้าทำได้ ราคาแพงเท่าไร ลูกค้าก็ยอมจ่าย เพื่อซื้อมาบริโภค แต่ถ้าไม่แตกต่าง ลูกค้าหาซื้อได้ทั่วไป ทำให้ไทยแข่งขันได้ยาก หรือถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นก็เหมือนกับสินค้า GI (สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) ที่กระทรวงพาณิชย์กำลังส่งเสริมให้มีทุกจังหวัด ซึ่งสินค้า GI ถือเป็นของดีในแต่ละจังหวัด สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ สินค้าและบริการก็เช่นเดียวกัน ถ้าทำให้แตกต่างได้ก็จะขายได้" นายอดุลย์ กล่าว

ทั้งนี้ ในปี 58 ไทยได้ทำ FTA กับประเทศคู่ค้า 12 ความตกลง ได้แก่ เขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA), FTA อาเซียน-จีน, ไทย-อินเดีย, อาเซียน-อินเดีย, ไทย-ออสเตรเลีย, อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์, ไทย-ญี่ปุ่น, อาเซียน-ญี่ปุ่น, อาเซียน-เกาหลี, ไทย-เปรู, ไทย-ชิลี และไทย-นิวซีแลนด์ โดยในปี 58 ผู้ส่งออกไทยขอใช้สิทธิส่งออกภายใต้ FTA ต่างๆ รวมมูลค่า 50,534 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 2.03% จากปี 57 คิดเป็นสัดส่วนการใช้สิทธิ 72.21% ของมูลค่าส่งออกของรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิที่มีมูลค่ารวม 69,980 ล้านเหรียญฯ

ด้านนายเจน นำชัยศิริ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้ไทยมี FTA กับหลายประเทศ ซึ่งจะต้องเร่งนำมาใช้ให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เพราะที่ผ่านมาไทยยังใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ รัฐบาลต้องวางแผนหาทางให้ผู้ประกอบการเข้าไปใช้ประโยชน์ให้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ รัฐบาลต้องช่วยดูแลในกรณีที่มีการทุ่มตลาดของสินค้าจากบางประเทศ โดยต้องตรวจสอบและติดตามอย่างรวดเร็ว เพื่อดูแลอุตสาหกรรมในประเทศไม่ให้ได้รับผลกระทบ โดยขอให้ดูตัวอย่างจากประเทศจีนที่นำมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดมาใช้ดูแลผู้ประกอบการไม่ให้ได้รับผลกระทบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ