นางลัษมณ อรรถาพิช เศรษฐกรอาวุโสประจำประเทศไทย ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) เปิดเผยว่า ADB ประเมินว่าในปี 59 นี้เศรษฐกิจไทยจะเติบโตได้ในอัตรา 3% ก่อนจะเร่งตัวขึ้นเป็น 3.5% ในปี 60 โดยอยู่บนสมมติฐานว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นไปตามกำหนดที่วางไว้ สถานการณ์ทางการเมืองมีความสงบเรียบร้อย และสามารถมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้ในปี 60
"เราคาดว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะโตได้ 3% และปีหน้าจะเร่งตัวขึ้นเป็น 3.5% ทั้งนี้ต้องรอดูมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะทยอยออกมาในปีนี้ด้วยว่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถโตได้มากกว่า 3% หรือไม่...เรามองว่าการลงทุนภาครัฐยังต้องเป็นพระเอกต่อไปในอีก 2 ปีข้างหน้า"นางลัษมณ กล่าว
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ ADB ได้คาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 59 ไว้ที่ 3.5% และทยอยปรับลดลงเหลือ 3.4% และล่าสุดมาอยู่ที่ 3.0% ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
นางลัษมณ กล่าวอีกว่า ADB ยังเชื่อว่าการลงทุนโดยรวมของไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ดี โดยได้รับแรงผลักดันจากยุทธศาสตร์การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งระยะ 8 ปี ซึ่งรัฐบาลประกาศว่าจะเริ่มดำเนินการ 20 โครงการในปีนี้ มูลค่า 51 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เช่น โครงการรถไฟฟ้า, รถไฟทางคู่, มอเตอร์เวย์, ท่าเรือ และการขยายสนามบินสุวรรณภูมิ โดยกระทรวงการคลังคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายราว 2 พันล้านเหรียญสหรัฐในปีงบประมาณ 59 รวมทั้งโครงการที่ยังต้องติดตามแผนการดำเนินการ คือ โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน
ดังนั้น หากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นไปตามกำหนด ก็จะมีส่วนช่วยในการเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจและการลงทุนภาคเอกชนเป็นอย่างมาก
สำหรับอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ ADB คาดว่าจะอยู่ในระดับเฉลี่ยที่ 0.6% ก่อนจะเร่งตัวเพิ่มขึ้นเป็น 2% ในปี 60 หลังจากที่อุปสงค์ภายในประเทศเข้มแข็งขึ้นและราคาน้ำมันสูงขึ้น ขณะที่นโยบายการเงินคาดว่าจะยังมีลักษณะผ่อนคลายต่อไปเนื่องจากแรงกดดันเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะยังคงอยู่ที่ระดับ 1.50% ไปจนถึงสิ้นปีนี้หากไม่มีสถานการณ์ใดๆ เข้ามากระทบเพิ่มเติม
ส่วนภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย คาดว่าในปีนี้มูลค่าการส่งออกสินค้ายังหดตัวเล็กน้อยที่ -1% ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีนเป็นสำคัญ ก่อนจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นได้เล็กน้อยในปี 60 มาที่ 1% ขณะที่การมูลค่าการนำเข้าสินค้าจะขยายตัวเล็กน้อยในปีนี้เช่นกัน และจะเพิ่มสูงขึ้นในปี 60 จากที่โครงการลงทุนภาครัฐมีการเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้จะเกินดุลราว 7.5% ของ GDP และจะเกินดุลน้อยลงในปี 60 มาอยู่ที่ 4% ของ GDP
ADB ยังมองว่าการบริโภคภาคเอกชนจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นในปีนี้และเพิ่มสูงขึ้นในปี 60 ซึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ จะมีส่วนช่วย แต่ภาวะหนี้ครัวเรือนสูง, ภัยแล้ง และราคาสินค้าเกษตรที่ยังอยู่ในระดับต่ำยังคงเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของการบริโภค ถึงแม้ว่าภัยแล้งจะทำให้ผลผลิตข้าวลดลง แต่ราคาข้าวก็ยังไม่เพิ่มสูงขึ้นนัก เนื่องจากยังมีสต็อกข้าวอยู่ในปริมาณค่อนข้างมาก ขณะที่ยางพาราและน้ำมันปาล์มก็ประสบปัญหาจากความต้องการของตลาดโลกที่น้อยลง และยังมีสต็อกเหลืออยู่เช่นกัน ส่วนปัจจัยหนุนจากภาครัฐน่าจะมีส่วนช่วยการบริโภคของภาคเอกชนในปีถัดไป เช่น การอุดหนุนปัจจัยการผลิต เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ และการอัดฉีดเงินเข้ากองทุนหมู่บ้าน รวมทั้งการที่รัฐบาลยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในส่วนของการหักค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คือ 1.ปัญหาภัยแล้งที่อาจรุนแรงยาวนานกว่าที่คาดไว้ว่าจะสิ้นสุดในเดือนก.ค.59 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อรายได้,การบริโภคภาคเอกชน และการส่งออกของไทย 2.การดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐที่ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หากล่าช้าออกไปมากก็จะยิ่งส่งผลกระทบมากขึ้น
ขณะที่ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย คือ 1.เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลัก ซึ่งหากขยายตัวน้อยกว่าที่คาดไว้ก็จะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย 2.ความเสี่ยงเกี่ยวกับเงินทุนเคลื่อนย้ายที่อาจจะมีความผันผวนมากในปีนี้
"การที่ FED จะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย จะส่งผลกระทบในแง่ของเงินทุนเคลื่อนย้าย รวมทั้งกระทบต่อค่าเงินของประเทศต่างๆ ทำให้ค่าเงินของประเทศในเอเชียอ่อนค่าลง ตลอดจนกระทบกับการค้า และหนี้ต่างประเทศที่ต้องชำระเพิ่มมากขึ้น แต่จากที่ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่เกินดุลค่อนข้างมาก หนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับต่ำ และระดับทุนสำรองระหว่างประเทศยังเข้มแข็ง ก็จะยังช่วยให้เศรษฐกิจไทยรับมือกับความผันผวนของการเงินโลกได้" นางลัษมณ กล่าว
สำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจเอเชียนั้น ADB ระบุในรายงานการวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียประจำปี 59 ว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียปีนี้จะเติบโตได้ 5.7% และจะยังทรงตัวอยู่ในระดับนี้ไปจนถึงปี 60 ซึ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่อยู่ในระดับปานกลาง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ได้ฉุดการเติบโตของภูมิภาคเอเชียให้ต่ำลง
ทั้งนี้ การเติบโตในระดับปานกลางของเศรษฐกิจจีน เป็นผลมาจากการส่งออกชะลอตัวลง อุปทานด้านแรงงานลดต่ำลง และการปฏิรูปด้านอุปทานทำให้เศรษฐกิจจีนมุ่งเน้นไปสู่การบริโภคภายในประเทศ และการลดลงของกำลังการผลิตส่วนเกิน โดยคาดว่าในปี 60 การเติบโตของจีนจะชะลอลงมาอยู่ที่ 6.3% และเนื่องจากการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจภายนอก การชะลอตัวลงของเศรษฐกิจจีนดังกล่าวคาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเติบโตลดลง 0.3%
แนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ประกอบกับตลาดเกิดใหม่ที่อ่อนแอลงโดยรวม ทำให้ความเสี่ยงเชิงลบต่อการเติบโตของภูมิภาคเอเชียยังคงมีอยู่ ความเสี่ยงของนักลงทุนมีเพิ่มขึ้น ตลาดการเงินโลกผันผวนมากยิ่งขึ้น และเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงเกินกว่าที่คาด ยิ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจของโลกแผ่วลง และส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการเติบโตของภูมิภาคเอเชีย