นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) เสนอให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทบทวนตัวเลขราคาเริ่มต้นในการประมูลคลื่น 900 MHz รอบใหม่ หลังจากมีการระบุว่าราคาเริ่มต้นประมูลจะไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ แม้ว่าในการประมูลรอบที่แล้วจะได้เงินค่าประมูล 7.6 หมื่นล้านบาทในชุดที่ 2 แต่เมื่อผู้ที่ประมูลได้ในชุดที่ 1 ไม่สามารถจ่ายเงินตามที่ประมูลไว้ราว 7.5 หมื่นล้านบาท และทำให้รัฐเสียหาย จึงเป็นการสะท้อนว่าราคาประมูลที่ได้ไปนั้นไม่สมเหตุสมผล อีกทั้งราคาหุ้นกลุ่มสื่อสารปรับตัวลงมากหลังจบการประมูลรอบที่แล้ว เพราะราคาประมูลที่สูงเกินไป โดยมูลค่าตลาด(Market Cap) ของกลุ่มหายไปราว 2-3 แสนล้านบาท
"การที่แจส โมบายฯ ไม่นำเงินค่าประมูลมาชำระ แสดงให้เห็นว่าเป็นราคาที่จะเป็นตัวชี้วัด หรือจะนำเป็น Benchmark ในการใช้การประมูลรอบใหม่ไม่ถูกต้อง เพราะธนาคารก็ไม่ยอมปล่อยเงินกู้ พันธมิตรก็ไม่เข้ามาร่วมลงทุนตามที่ได้เจรจาไว้ก่อนหน้านี้"
และเสริมว่า "กสทช.อาจจะต้องไปปรับโหมด สิ่งที่ทำมามีข้อผิดพลาด เรามีกฎหมายเพื่อให้สามารถนำคลื่น 900 ประมูลเอาใหม่ให้ราคาเป็นที่ยอมรับ หากราคาแตกต่างจากที่ทรูฯ จ่ายก็ให้มีกฎหมายรองรับลดราคาให้ทรู" นายสมชัย กล่าวในงานสัมมนา"4จี มาใครได้ประโยชน์"
อย่างไรก็ดี ADVANC ยังมีความสนใจอยู่ตลอดเวลาที่จะเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่เพิ่มเติม แต่สำหรับการประมูลคลื่น 900MHz รอบใหม่คงต้องขอรอดูกติกาให้ชัดเจน และนำเสนอคณะกรรมการบริษัทตัดสินใจ
ขณะที่นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใ หญ่ และประธานคณะผู้บริหาร กลุ่ม บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) กล่าวว่า บริษัทได้จ่ายเงินค่าประมูลงวดแรกพร้อมวางหน้งสือค้ำประกัน หลังจากได้รับคำยืนยันกับ กสทช.ว่า หากแจส โมบาย บรอดแบนด์ ไม่มาจ่ายเงินค่าประมูลจะเปิดประมูลครั้งใหม่ให้เร็วที่สุดในราคาที่แจส โมบายฯ ชนะประมูล และหากไม่มีใครประมูลก็จะเก็บคลื่นไว้ 1 ปีจึงจะออกมาประมูลที่ราคาเดิม แต่หากมีการเปลี่ยนแปลงราคาประมูล บริษัทก็คงต้องขอความเป็นธรรมจาก กสทช.ให้ปรับลดราคาค่าใบอนุญาตของบริษัทลง
"บริษัทมีความมั่นใจ กสทช.และรัฐบาลที่จะให้ความเป็นธรรมในแง่บริษัทจะเดินหน้าลงทุน 4 จีเต็มที่" นายศุกชัย กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายศุภชัย เห็นว่าการเปิดประมูลคลื่น 900MHz รอบใหม่ยิ่งจัดขึ้นเร็วยิ่งดี ขณะเดียวกันบริษัทยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมประมูลหรือไม่ เพราะเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องนำเสนอให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณา ส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยเฉพาะไชน่าโมบายรับทราบเรื่องนี้แล้ว รวมทั้งมั่นใจว่าบริษัทจะได้รับความเป็นธรรม อีกทั้งนักลงทุนสถาบันในประเทศและนักลงทุนต่างประเทศที่ได้รับคำชี้แจงจากบริษัทก็เข้าใจดี
"แต่เรื่องนี้ต่างประเทศจับตาดูว่าประเทศเราจัดการอย่างไร และต่อไปจะจัดการประมูลอย่างไร เพราะการประมูลคราวที่แล้วดังไปทั่วโลก หากไม่มีระบบการจัดการที่ดีก็จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นการเข้ามาลงทุนของต่างชาติได้"นายศุภชัย กล่าว
ด้าน พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และในฐานะประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า กสทช.เห็นว่าผู้ที่เข้าประมูลล้วนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ที่จะต้องเป็นบริษัทที่โปร่งใสและมีธรรมาภิบาล (CG) ซึ่งก็ไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะมีบริษัทใดที่หลุดออกมาทำให้เกิดความวุ่นวายเช่นนี้
"ทำไมเราไม่ประณามคนที่ทำความผิด แต่ทำไมสังคมถึงมองว่าเขาฉลาด เท่าที่เห็นตามข่าวกลับดูถูกคนที่จ่ายเงิน ผมว่าสังคมต้องมาคิดกันใหม่ ผมเห็นด้วยกับคุณสมชัย แต่ก็เห็นใจคุณศุภชัย ที่ยอมจ่ายเงินตามกระบวนการ"พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม กสทช.ต้องเดินหน้าการประมูลคลื่น 900MHz และตนจะทำเต็มที่ตามเพดานกฎหมายที่มี แม้จะยอมรับว่าไม่สามารถทำได้ทุกอย่างก็ตาม