"สมคิด"หวังเอกชนร่วมลงทุนนวัตกรรม-ส่งเสริม SMEs,กลุ่ม start-up สู่เวทีแข่งขันโลก, เอกชนหนุนประชารัฐขับเคลื่อนศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 1, 2016 15:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ มอบนโยบายและกล่าวปาฐกถาพิเศษในงาน "SET 100 ผนึกกำลังประชารัฐ" โดยต้องการให้กลุ่มบริษัทใน SET 100 ได้เข้ามาลงทุนด้านนวัตกรรมแห่งอนาคต เพิ่มความสามารถด้านการออกแบบดีไซน์ และด้านวิทยาการ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ช่วยเพิ่มมูลค่าต่อ GDP ของประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และธุรกิจ Start-up ให้มากยิ่งขึ้น

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีศักยภาพสูงที่จะเข้าขับเคลื่อนในโครงการประชารัฐให้เกิดโครงการใหม่ๆ ขึ้นได้ ซึ่ง GDP ของประเทศในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเติบโตได้ยาก เนื่องจากมูลค่าผลผลิตที่ต่ำ เพราะเป็นสินค้ากลุ่มเดิมๆ ไม่มีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ดังนั้นจึงไม่สามารถเพิ่มราคาเพื่อแข่งขันในตลาดโลกได้

"รัฐบาลจึงอยากเห็นภาคเอกชนเข้ามาช่วย เช่น ด้านเกษตร อยากเห็นเกษตรสมัยใหม่ มีการแปรรูปสินค้า และหาช่องทางไปจำหน่ายยังต่างประเทศ เพื่อทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น โดยภาครัฐได้ออกมาตราการให้การช่วยเหลือภาคการเกษตรผ่านทางธกส. พร้อมให้การสนับสนุนด้านการหาช่องทางการจำหน่ายผ่านระบบ E-Commerce" นายสมคิด กล่าว

พร้อมกันนี้ ได้ยกตัวอย่างในช่วงที่เดินทางไปประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งได้เห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากประเทศเกาหลีใต้มีการดำเนินการในเรื่องของศูนย์พัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่มีอยู่ทั้งหมด 18 แห่ง ดังนั้นจึงอยากให้ประเทศไทยมีการดำเนินการในรูปแบบประชารัฐ โดยเรื่องที่จะดำเนินการ คือ เกษตร, อาหาร และไบโอเทค ส่วนเรื่องที่จะตามมา คือ สุขภาพ, สปา, อิเล็กทรอนิกส์, ดิจิตอล, อินเตอร์เน็ต และสินค้าสร้างสรรค์

"เกาหลีใต้ได้มีการยกระดับการพัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี และบริษัทในประเทศก็ได้ให้การสนับสนุนกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ ด้วยการให้เงินทุนและต่อยอดจนเกิดเป็นธุรกิจ Start-up นับเป็น 100 เป็น 1000 บริษัท" รองนายกรัฐมนตรี กล่าว

ทั้งนี้ เชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะทำได้ เพียงแต่ต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีคิด และต้องการให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในช่วงเวลาที่เหลือของรัฐบาลในอีก 1 ปีครึ่ง พร้อมต้องการให้มหาวิทยาลัยมาช่วยสนับสนุนเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินที่จะเข้ามาปล่อยสินเชื่อให้กับวิสาหกิจเริ่มต้น

"ลำพังผม หรือนายกรัฐมนตรีคนเดียวไม่สามารถทำได้ ดังนั้นจึงต้องการพลังจากภาคเอกชน SET 100 ในการเข้ามามีส่วนร่วมให้เกิดขึ้น และเรื่องนี้ไม่ใช่ประชานิยม แต่เป็นการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของประเทศ" นายสมคิด กล่าว

ทั้งนี้ ได้เรียกโมเดลการสร้างธุรกิจ Start-up นี้ว่า "โมเดล 4.0" ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจที่เน้นการสร้างมูลค่าและนวัตกรรม และสร้างนักรบด้านธุรกิจใหม่ๆ ของประเทศ ขณะเดียวกันอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อผลักดันให้ประชารัฐมีส่วนร่วมในการจัดสรรงบประมาณของประเทศ ซึ่งต้องการให้ดำเนินการให้ได้ภายใน 1 ปีครึ่ง

ทั้งนี้ ระหว่างการให้นโยบาย นายสมคิด ยังได้กล่าวถึงการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ที่ประมาณการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยไว้ที่ระดับ 3% ว่า จากการหารือกับนายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง ได้กำชับไปว่าให้ประคับประคองเศรษฐกิจไม่ให้มีปัญหา และพยายามทำให้ GDP เติบโตในระดับ 3% ในสภาวะที่เศรษฐกิจเป็นเช่นนี้ อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้เตรียมเงินสำหรับการให้ความช่วยเหลือใน sector ที่อาจจะเกิดปัญหาไว้แล้ว

ด้านนายอิสระ ว่องกุศลกิจ หัวหน้าทีมภาคเอกชนคณะทำงานร่วมประชารัฐ ด้านการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ กล่าวในหัวข้อความคืบหน้าโครงการประชารัฐว่า แผนโครงสร้างการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ได้มีการวางยุทธศาสตร์หลักไว้ 4 เสาหลัก คือ ธรรมาภิบาล, นวัตกรรมและผลิตภาพ, การยกระดับคุณภาพมนุษย์ และการมีส่วนร่วมในความมั่งคั่ง ซึ่งจะเป็นการช่วยลดปัญหาในสังคมไทยด้านความเหลื่อมล้ำ, การพัฒนคุณภาพของคน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน

ทั้งนี้ยุทธศาตร์ดังกล่าว ได้มีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้น เพื่อทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ผ่าน 7 ตัวขับเคลื่อน และ 5 ปัจจัยสนับสนุน แบ่งเป็น การยกระดับนวัตกรรมและผลิตภาพ, การส่งเสริม SME&Start up, การส่งเสริมการท่องเที่ยวและ MICE, การส่งเสริมการส่งออกและการลงทุนในต่างประเทศ, การพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตรสาหกรรมที่เป็น New S-curve, การพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ และการสร้างรายได้และการกระตุ้นการใช้จ่ายของประเทศ ขณะที่ปัจจัยสนับสนุน คือ การดึงดูดการลงทุนและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ, การยกระดับคุณภาพวิชาชีพ, การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ การปรับแก้กฎหมายและกลไกภาครัฐ และการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ

สำหรับตนเองที่ได้รับมองหมายให้ดูแลในเรื่องของการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่ มีการทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตร ก็มีแผนปฎิรูปภาคเกษตรด้วยกลไกประชารัฐ จากการศึกษาถึงความต้องการของตลาด และการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเกษตรกรรายเล็ก ระดับต้นน้ำ จะมีการส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มเพื่อใช้เครื่องจักรกล การรวมกลุ่มเพื่อใช้ผู้รับเหมา และใช้สินค้าที่สามารถสร้างรายได้รวดเร็ว ขายได้ทุกวัน ส่วนเกษตรกรรายกลาง ก็จะส่งเสริมให้มีการรับจ้างผลิต ใช้เครื่องจักรทำงานอย่างเต็มที่ ส่วนเกษตรกรรายใหญ่ โดยมีพืชเกษตรอยู่ประมาณ 5 ชนิด คือ อ้อย ปาล์ม ยาง และข้าว ที่ยังแข่งขันไม่ได้ ให้ไปสู่ระดับกลางน้ำ ในการพัฒนาประสิทธิภาพลดต้นทุน และการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ให้ได้ตามมาตรฐานสากล และระดับปลายน้ำ คือ การแปรรูปสินค้า ให้เป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำการส่งออกอาหารในอันดับต้นๆของโลก และการสร้างแบรนด์ การขยายตัวไปยังอุตสาหกรรมในอนาคต รวมถึงจัดตั้งวิสาหกิจเพื่อสังคมโดยเอกชนร่วมกับท้องถิ่น

นอกจากนี้ยังมีการทำงานร่วมกับสหกรณ์โคนม และสัตว์บก สัตว์น้ำ ซึ่งจะทำอย่างไรให้สินค้าของไทยมีมูลค่าเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะสัตว์น้ำ ที่จะส่งเสริมให้ชาวบ้านมีการเลี้ยงสัตว์น้ำ เพื่อนำออกจำหน่าย และหาแหล่งรับซื้อ สร้างรายได้ให้เกษตรกร

“ขณะนี้ก็ยังมีการเปิดรับการเข้าร่วมโครงการของภาคเอกชนอยู่ โดยมองว่าโครงการประชารัฐ ที่เกิดขึ้น เนื่องด้วยรัฐบาลพยายามเข้ามาช่วย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ให้สามารถแข่งขันได้ ขณะที่ภาคเอกชนก็มีบทบาทสำคัญอย่างมาก ที่จะเข้ามาช่วยกันเปลี่ยนแปลงประเทศ"

นายกานต์ ตระกูลฮุน หัวหน้าทีมภาคเอกชนคณะทำงานร่วมประชารัฐ ด้านการยกระดับนวัฒกรรมและผลิตภาพ กล่าวว่า ด้านการยกระดับนวัฒกรรมและผลิตภาพ มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม แบ่งเป็นการส่งเสริมนวัฒกรรมขององค์กรภาคเอกชน ผ่านการสร้าง Private-Public Sector Research & Development Consortium, การนำเสนอ R&D spending โดยบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ SET และพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญา

ทั้งนี้แผนการดำเนินงาน แบ่งเป็น การสนับสนุนความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยศูนย์วิจัย และบริษัทเอกชน โดยการจัดตั้งศูนย์นวัฒกรรมของบริษัทเอกชน ให้ทางมหาวิทยาลัยและประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างความร่วมมือกับนักวิจัยของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย และสนับสนุนให้นักศึกษาระดับปริญญาโทและเอก ร่วมฝึกงานกับภาคอุตสาหกรรม 6 เดือน เพื่อเข้าใจความต้องการวิจัยของภาคุรกิจ และเพิ่มโอกาสการทำวิจัยร่วมกัน อีกทั้งก็มีการสนับสนุน Start up ด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง

ส่วนการแก้ไขกฎหมายและกลไกภาครัฐ รัฐบาลมีความมุ่งมั่นอย่างมากในการแก้ไขกฎหมาย จึงมีการทำงานร่วมกับภาคเอกชนมาโดยตลอด เพื่อแก้ไขขั้นตอนต่างๆให้มีความรวดเร็วขึ้น ซึ่งได้มีการจัดตั้งคณะทำงาน 5 Quick wins ประกอบด้วย ศุลกากร, อาหารและยา, คนเข้าเมือง, EIA/EHIA และผังเมือง วางเป้าหมายการประกอบธุรกิจในประเทศไทยง่ายขึ้น (Ease of doing business ranking) ในปี 61 ติดอันดับ TOP20 จากปัจจุบันอยู่ที่อันดับ 49 ของ 189 ประเทศทั่วโลก

นายศุภชัย เจีรยนนท์ หัวหน้าทีมภาคเอกชนคณะทำงานร่วมประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ กล่าวว่า กรอบการทำงานของคณะทำงานการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ โดยมีแนวทางออกเป็น 3 ส่วน คือ การวางยุทธศาสตร์การพัฒนาการศึกษาพื้นฐาน 10 ด้าน , โครงการพัฒนาผู้นำใหม่จากภาคเอกชน และศูนย์กลางการศึกษาในด้าน R&D ที่เกี่ยวข้องกับเมกะเทรนด์ ที่เป็นตัวเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีของโลก

พร้อมกันนี้พื้นฐานสำคัญที่จะขับเคลื่อนระบบการศึกษา การบริหารงาน จะต้องเกิดขึ้นจากความโปร่งใส ที่จะส่งผลไปถึงข้อมูล หรือผลการปฎิบัติงานของโรงเรียน ทั้งปริมาณและคุณภาพบุคคลากร

อย่างไรก็ตามแนวทางการขับเคลื่อนในขั้นต้นจะมีการคัดเลือกโรงเรียนร่วมกับกระทรวงศึกษา จากการสมัครจากโรงเรียนรัฐทั่วประเทศกว่า 10, 000 โรงเรียน และได้มีการคัดเลือกความพร้อมของโรงเรียนเริ่มต้นที่ 3, 322 โรงเรียน โดยจุดเริ่มต้นจะมีการสร้างโปรแกรม Connext Ed ร่วมกับภาคเอกชน เพื่อพัฒนาไปสู่อีกยุคของการศึกษา ซึ่งขณะนี้ก็มีองค์กรขนาดใหญ่เข้าร่วม แล้ว 10 องค์กร เพื่อร่วมสร้างโปรแกรม เข้าไปเป็นพาสเนอร์กับบุคลลากรในโรงเรียน รวมถึงการเข้าร่วมกับชุมชนและผู้ปกครอง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ