นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้แจ้งมายังสมาคมฯ ว่าจะทบทวนหลักเกณฑ์มาตรฐานข้าวหอมมะลิออกไปนอกราชอาณาจักร โดยจะยกเลิกมาตรฐานข้าวหอมมะลิชนิดพิเศษ หรือต้องมีข้าวหอมมะลิเป็นส่วนผสมไม่น้อยกว่า 98% เพราะสร้างความสับสนให้ตลาดผู้ซื้อข้าวเป็นอย่างมาก จากเดิมที่ไทยใช้มาตรฐานข้าวหอมมะลิชนิดเดียวคือ สัดส่วน 92% หรือต้องมีข้าวหอมมะลิไม่น้อยกว่า 92% และมีข้าวอื่นผสมได้ไม่เกิน 8%
ทั้งนี้ ประกาศมาตรฐานข้าวหอมมะลิฉบับใหม่ที่กรมการค้าต่างประเทศกำลังจัดทำข้อสรุปเพื่อเสนอ รมว.พาณิชย์เห็นชอบนั้น จะแบ่งมาตรฐานข้าวหอมของไทยเป็น 2 ชนิด คือ มาตรฐานข้าวหอมมะลิสัดส่วน 92% โดยในการส่งออกจะใช้ชื่อว่า "ไทย หอมมะลิ ไรซ์" และมาตรฐานข้าวหอม 80% จะใช้ชื่อในการส่งออกว่า "ไทย จัสมิน ไรซ์" ซึ่งมาตรฐานข้าวหอมมะลิ 92% จะเป็นมาตรฐานสูงสุด และต้องเป็นข้าวหอมมะลิเท่านั้น แต่มาตรฐานข้าวหอม 80% จะเป็นข้าวหอมปทุมธานีหรือข้าวหอมมะลิก็ได้ โดยมีส่วนผสมของข้าวหอมปทุม หรือข้าวหอมมะลิสัดส่วน 80% อีก 20% สามารถมีข้าวชนิดอื่นมาผสมได้
สำหรับข้อดีของข้าวหอมสัดส่วน 80% นั้น จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาในตลาดข้าวหอมให้กับไทย โดยมาตรฐานข้าวหอมมะลิสัดส่วน 92% จะเป็นการทำตลาดระดับบน แต่มาตรฐานข้าวหอมสัดส่วน 80% จะเป็นการทำตลาดระดับกลางและระดับล่าง ซึ่งจะแข่งขันกับราคาข้าวหอมจากเวียดนามได้
"ปัจจุบันราคาข้าวหอมของเวียดนามอยู่ที่ 500 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ต่ำกว่าราคาข้าวหอมมะลิของไทยที่ส่งออก 750 ดอลลาร์สหรัฐ/ตัน ทำให้ตลาดระดับกลางและล่างไปซื้อข้าวหอมเวียดนามเพราะมีราคาถูกกว่า แต่หากไทยเพิ่มในเรื่องมาตรฐานข้าวหอมสัดส่วน 80% ขึ้นมา ซึ่งราคาข้าวจะใกล้เคียงกับข้าวหอมเวียดนาม จะทำให้แข่งขันได้" นายชูเกียรติ กล่าว