ครม.เห็นชอบแผนพัฒนาดิจิตอลเพื่อศก.-สังคม และแผนพัฒนารัฐบาลดิจิตอล ระยะ 3 ปี (59-61)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 5, 2016 16:32 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างแผนพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และร่างแผนพัฒนารัฐบาลดิจิตอล ระยะ 3 ปี (2559-2561) โดยให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) เป็นหลักในการขับเคลื่อนแผนดังกล่าว และขอให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ยึดเอาแผนนี้ไปจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการมาประกอบกับคำขอรับการสนับสนุนงบประมาณ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิตอลของประเทศให้เป็นไปตามแผนหลัก

สำหรับพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีเป้าหมายการพัฒนาครอบคลุมทั้ง 4 มิติ คือ เศรษฐกิจ, สังคม, ทุนมนุษย์ และภาครัฐ โดยมียุทธศาสตร์ในการดำเนินการ คือ 1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ที่ทำให้ทุกหมู่บ้านในประเทศไทยสามารถใช้อินเตอร์เน็ตได้ 2.การสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชนว่าความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมีส่วนขับเคลื่อนประเทศได้จริง 3.การทำให้ประชาชนมีความรู้และเข้าถึงดิจิตอลให้ได้ 4.การทำให้สังคมขับเคลื่อนไปได้ 5.การทำให้ภาครัฐปรับรูปแบบการบริหารราชการไปเป็นแบบยุคดิจิตอลได้ในที่สุด

ทั้งนี้กำหนดกรอบการดำเนินงานไว้ 4 ระยะ คือ 1 ปี 6 เดือน ซึ่งภายในรัฐบาลนี้จะทำโครงสร้างฐานรากให้มีความพร้อม จากนั้นช่วง 5 ปีต่อไปจะทำให้ทุกภาคส่วนของประเทศไทยสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลให้ได้ จากนั้นระยะ 10 ปี จะทำให้ประเทศเข้าสู่การเป็นดิจิตอลไทยแลนด์ และระยะ 20 ปี จะทำให้ประเทศไทยอยู่ในระดับต้นๆ ของการขับเคลื่อนโดยดิจิตอล

"ระยะเวลาที่กำหนดไว้นี้ จะสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ขณะที่แผนพัฒนารัฐบาลดิจิตอล จะเป็นแผนที่กำหนดรายละเอียดการปฏิบัติของรัฐบาล ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม" พล.ต.สรรเสริญ ระบุ

พร้อมกันนี้ รมว.ไอซีที ได้รายงานต่อที่ประชุมครม.ว่า องค์การสหประชาชาติ (UN) จัดอันดับรัฐบาลดิจิตอลทั่วโลก ซึ่ง 3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีอันดับลดลงมาโดยตลอด ล่าสุดไทยอยู่ในอันดับที่ 102 ของประเทศที่เป็นสมาชิก UN แต่ในร่างแผนพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งร่างแผนพัฒนารัฐบาลดิจิตอล ระยะ 3 ปีนี้ ไทยตั้งเป้าไว้ว่าถ้าเดินไปตามแผนนี้ได้ หน่วยงานที่ยึดแผนนี้เป็นหลัก และไปออกเป็นแผนปฏิบัติการที่รองรับกับเรื่องนี้ได้ ไทยจะขึ้นไปอยู่ใน 50 อันดับของประเทศใน UN ที่ขับเคลื่อนโดยเศรษฐกิจดิติจอลได้

"นายกฯ ตั้งความหวังว่าถ้าเดินไปได้ตามแผนนี้จริงๆ จะทำให้ขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศเราดีขึ้น อำนวยความสะดวกในเชิงเศรษฐกิจ ธุรกิจการค้า โดยเฉพาะ SMEs ที่ถือเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ