เอเปก มองอนาคตประเทศไทยใช้พลังงานเพิ่มขึ้น 86% ในอีก 20-30 ปีข้างหน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 6, 2016 10:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยพลังงานเอเซียแปซิฟิก (Asia Pacific Energy Research Center : APERC) ได้นำเสนอภาพอนาคตอุปสงค์และอุปทานพลังงานของเอเปกและประเทศไทย โดยเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างบุคลากรด้านนโยบายของภาครัฐ กับผู้เชี่ยวชาญจาก APERC ต่อการกำหนดสมมติฐาน และผลการพยากรณ์อุปสงค์ อุปทานพลังงาน ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งต่อการนำมาประยุกต์ใช้ในการพยากรณ์ความต้องการพลังงานของประเทศให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ตลอดจนเป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายด้านพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสอดคล้องกับสถานการณ์ของประเทศและโลกต่อไป

ด้านนายอาทิตย์ ทิพย์พิชัย นักวิจัยศูนย์วิจัยพลังงานเอเชียแปซิฟิก กล่าวว่า ได้นำข้อมูลผลจากการพยากรณ์ความต้องการใช้พลังงานของ 21 ประเทศ ในกลุ่มเอเปก ที่มีสมมติฐานในการพยากรณ์ความต้องการพลังงานดังกล่าว โดยใช้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จากธนาคารโลก (World Bank) มาใช้ในแบบจำลอง และนำมาแลกเปลี่ยนความเห็นกับหน่วยงานด้านนโยบายพลังงานของประเทศ เพื่อปรับให้มีความสอดคล้องกัน โดยหนึ่งในนั้นคือประเทศไทย ซึ่งได้มีการประมาณการว่าในอีก 20-30 ปีข้างหน้า ประเทศไทยยังคงมีการใช้พลังงานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 86% ในปี 2583 แต่แหล่งผลิตพลังงานภายในประเทศจะมีปริมาณลดลง และจะมีการนำเข้าพลังงานเพิ่มขึ้นจาก 42% เป็น 78%

จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตประเทศไทยยังคงต้องดำเนินมาตรการอนุรักษ์พลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการประหยัดพลังงานในภาคขนส่ง ได้แก่ การส่งเสริมการใช้รถยนต์ประสิทธิภาพสูง การเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า และเชื้อเพลิงภาคขนส่งเป็นพลังงานทดแทน แทนน้ำมันเชื้อเพลิง ตลอดจนเปลี่ยนโหมดสู่การใช้ขนส่งมวลชนสาธารณะ อาทิ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง และรถสาธารณะรูปแบบอื่นๆ ที่กำลังพัฒนา ฯลฯ โดยแนวทางต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยทำให้การใช้พลังงานภาคขนส่งลดลงได้

สำหรับการพยากรณ์ความต้องการใช้พลังงานของเอเปกและประเทศไทยในครั้งนี้นอกจากเพื่อนำเสนอความต้องการใช้พลังงานในอนาคตแล้ว ยังเป็นข้อมูลช่วยในการพิจารณาแนวโน้มความสำเร็จของนโยบายพลังงาน เช่น เป้าหมายการเพิ่มความเข้มข้นในการประหยัดพลังงานของเอเปก ที่มีเป้าหมาย 45% ในปี 2578 จะสามารถบรรลุเป้าหมายได้หรือไม่ หรือหากต้องการบรรลุเป้าหมาย ควรมีกิจกรรมด้านอื่นๆอย่างไร เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการประหยัดพลังงาน

นายอาทิตย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายลดการใช้พลังงานลง 30% ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน และตั้งเป้าหมายเพิ่มการใช้พลังงานทดแทนจาก 15% เป็น 30% ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก การทำการศึกษาเช่นนี้จะทำให้รู้ว่าปัจจุบัน และอนาคตการใช้พลังงานเป็นอย่างไร สามารถดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายหรือไม่ และควรดำเนินการมาตรการอื่นๆ เพิ่มเติมอีกหรือไม่

จากผลการศึกษาพบว่าในอนาคตประเทศไทยมีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้การจัดหาพลังงานในอนาคต อาจต้องนำเข้าพลังงานในปริมาณสูงขึ้นตามไปด้วย ซึ่ง APERC ได้ทำการศึกษาเพื่อช่วยแก้ปัญหาด้านการใช้พลังงานของไทย โดยได้จัดทำแผนทางเลือกในการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงหลัก 3 ประเภท เพื่อเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงาน ด้วยการกระจายเชื้อเพลิง ควบคู่กับการลด ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้แก่ การใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด การใช้ก๊าซธรรมชาติ และการใช้พลังงานนิวเคลียร์ ซึ่งแนวทางดังกล่าวเป็นการเพิ่มความหลากหลายของเชื้อเพลิง และมีความมั่นคงด้านพลังงาน หากประเทศไทย ดำเนินการตามแผนทางเลือก ตามที่ศูนย์วิจัยพลังงานเสนอ ก็จะสามารถลดการเกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานอีกด้วย

นาย James Kendell รองประธานศูนย์วิจัยพลังงานเอเซียแปซิฟิก กล่าวว่า ความต้องการใช้พลังงาน ในภูมิภาคเอเซีย เพิ่มสูงขึ้น โดยประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นประเทศที่มีความต้องการใช้พลังงานสูงสุด รองลงมาคือ ภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ประเทศในภูมิภาคอาเซียน มีการเติบโตค่อนข้างสูง ตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้มีความต้องการใช้พลังานเพิ่มมากขึ้น โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาอาเซียนเปลี่ยนจากที่เคยเป็นผู้ส่งออกพลังงาน

ปัจจุบันต้องนำเข้า ทำให้นโยบายในอาเซียนหลายประเทศคล้ายและใกล้เคียงกับไทย คือเร่งรัดการประหยัดพลังงานการใช้รถยนต์ และรถสาธารณะที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น เปลี่ยนรถที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเป็นรถไฟฟ้า ใช้บริการรถไฟความเร็วสูง และรถสาธารณะที่กำลังพัฒนา คาดการณ์ว่าในอนาคตภูมิภาคอาเซียนจะกลายเป็นศูนย์กลางความต้องการพลังงาน รวมถึงเทคโนโลยีที่จะนำมาใช้ด้านพลังงาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ