นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยถึงความคืบหน้ามาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล ตำบลละ 5 ล้านบาทว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) จากเดิมที่กำหนดให้ต้องเบิกจ่ายงบประมาณให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 มี.ค.59 ซึ่งให้ขยายเฉพาะโครงการที่ได้มีการก่อหนี้ผูกพันจนถึงขั้นจองเงินในระบบ PO (Purchase Order) ให้เสร็จภายในวันที่ 31 มี.ค.59 และกรมบัญชีกลางได้กำชับให้สำนักงานคลังเขต 1-9 และสำนักงานคลังจังหวัดทั่วประเทศ เร่งสำนักงานจังหวัดจัดทำ PO ให้เสร็จทันตามกำหนด
ทั้งนี้ จากการสอบถามเจ้าหน้าที่สำนักงานคลังเขตและสำนักงานคลังจังหวัด พบว่าเมื่อวันที่ 31 มี.ค.59 เจ้าหน้าที่ทุกคนได้เร่งทำ PO กันทุกจังหวัด เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ส่วนจังหวัดที่มีการเบิกจ่ายได้มากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ 1.จังหวัดนราธิวาส เบิกได้ 382.15 ล้านบาท หรือคิดเป็น 99.26% 2.จังหวัดสกลนคร เบิกได้ 604.81 ล้านบาท หรือคิดเป็น 96.77% และ 3.จังหวัดเชียงราย เบิกได้ 590.58 ล้านบาท หรือคิดเป็น 95.25%
สำหรับโครงการมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) วงเงินรวม 36,462 ล้านบาท จากข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2559 ได้รับอนุมัติจัดสรรงบประมาณแล้ว 121,238 โครงการ ก่อหนี้ผูกพันแล้ว 34,600 ล้านบาท หรือคิดเป็น 94.89% เบิกจ่ายได้แล้ว 20,366 ล้านบาท หรือคิดเป็น 55.85%
"การดำเนินงานตามแผนนโยบายเรื่องนี้ บุคลากรของกรมบัญชีกลางใช้กลยุทธ์หลากหลายวิธี ทั้งการประสานงานในระดับอำเภอและจังหวัดต่างๆ มีการประชุมติดตามงาน เพื่อรับฟังปัญหา อุปสรรค และร่วมกันแก้ไขปัญหาให้ผ่านลุล่วงด้วยดี...สามารถปฏิบัติงานได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ทุกจังหวัด หลังจากนี้จะมีเม็ดเงินเพื่อลงไปกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง" นายมนัส กล่าว