กรมศุลฯ เปิดใช้งานระบบติดตามทางศุลกากรพร้อมเปิดโครงการปล่อยสินค้าล่วงหน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 7, 2016 16:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เป็นประธานในพิธีเปิดการใช้งานระบบติดตามทางศุลกากร (Tracking System) ภายใต้เทคโนโลยี e-Lock และเปิดโครงการปล่อยสินค้าล่วงหน้า (Pre-arrival Processing System) ที่สถานีตรวจสอบตู้สินค้าที่ 2 ศูนย์เอกซเรย์และเทคโนโลยีศุลกากร สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี

นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน กรมศุลกากรได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีศุลกากรหลายประการ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า ให้การผ่านพิธีการศุลกากรเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็ว และยังคงไว้ซึ่งภารกิจในการปกป้องสังคมควบคู่กัน กรมศุลกากร ได้ดำเนินการจัดหาระบบติดตามทางศุลกากร (Tracking System) เพื่อช่วยให้การดำเนินงานควบคุมและตรวจสอบสินค้าผ่านแดนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้งานร่วมกับระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้าด้วยเครื่องเอกซเรย์ ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้การเปรียบเทียบภาพสินค้าและน้ำหนักสินค้าระหว่างท่าต้นทางและท่าปลายทาง ทำได้โดยสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ประกอบกับการนำเทคโนโลยี RFID และ GPS ซึ่งทำงานร่วมกันเป็น "ระบบติดตามทางศุลกากร (Tracking System) ภายใต้เทคโนโลยี e-Lock" โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรสามารถควบคุม ตรวจสอบและเฝ้าติดตามการเคลื่อนย้ายของตู้สินค้าผ่านแดนได้ตลอดเส้นทางตั้งแต่ท่าต้นทางจนถึงท่าปลายทาง

"โดยในระยะแรก กรมศุลกากรจะนำระบบ e-Lock มาใช้กับสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง และด่านศุลกากร รวม 16 แห่ง ที่มีปริมาณการขนส่งสินค้าเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นมาตรการทางศุลกากรที่จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ และช่วยปกป้องสังคมให้ปลอดภัย" อธิบดีกรมศุลกากรกล่าว

พร้อมกันนี้ กรมศุลกากรได้จัดทำโครงการปล่อยสินค้าล่วงหน้า (Pre-arrival Processing System) ณ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่มีปริมาณการนำเข้า-ส่งออก เป็นอันดับหนึ่งของประเทศ มีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางของระบบโลจิสติกส์และการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ (Multimodal Transportation) ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการอำนวยความสะดวกทางการค้าเป็นการส่งเสริมให้ประเทศไทย มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการค้าและการลงทุน (Ease of Doing Business) สอดคล้องกับความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Agreement on Trade Facilitation)

โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการสายการเดินเรือส่งข้อมูลบัญชีสินค้าสำหรับเรือล่วงหน้าก่อนเรือมาถึงไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง เพื่อให้ผู้ประกอบการท่าเทียบเรือได้มีข้อมูลสำหรับเตรียมการจัดวางตู้คอนเทนเนอร์สินค้าล่วงหน้าก่อนเรือเทียบท่า ผู้นำของเข้าสามารถส่งข้อมูลใบขนสินค้าและปฏิบัติพิธีการศุลกากรล่วงหน้า ทำให้สามารถทำการตรวจปล่อยสินค้าได้ในทันทีที่สินค้ามาถึง ในส่วนของเจ้าหน้าที่ศุลกากรสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวประกอบในการบริหารความเสี่ยงเพื่อพิจารณาปล่อยสินค้าได้ล่วงหน้าและรวดเร็วกว่าที่เคยปฏิบัติมา ทำให้สามารถลดระยะเวลาในการดำเนินงานในท่าเรือให้น้อยลง อันก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาพรวมในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ

"ในขั้นแรก กรมศุลกากรจัดให้มีโครงการนำร่องการปล่อยสินค้าล่วงหน้า ณ ท่าเทียบเรือ A3 ท่าเรือแหลมฉบัง โดยได้รับความร่วมมือจากบริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด และจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 18 เมษายน 2559 ระยะเวลาดำเนินการ 60 วัน" นายกุลิศ กล่าว

อย่างไรก็ตาม กรมศุลกากร จะมุ่งมั่นพัฒนาระบบงานศุลกากร โดยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเข้ามาปรับใช้อย่างไม่หยุดนิ่ง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของภาครัฐ และอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคธุรกิจ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการแข่งขันทางการค้าระหว่างประเทศให้ทันกับโลกในยุคปัจจุบัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ