นายพิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในเดือนเมษายน 2559 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน 17.93 จุด หรือลดลงกว่า 27.03% ลงมาที่ระดับ 48.40 จุด ต่ำกว่าระดับ 50 จุดเป็นครั้งแรกในปีนี้ ซึ่งสะท้อนทัศนคติต่อราคาทองคำเชิงลบ โดยมีความเห็นสวนทางกันระหว่างกลุ่มนักลงทุนที่มีมุมมองเชิงลบ ขณะที่กลุ่มผู้ค้าทองคำยังมีมุมมองเชิงบวก โดยกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าปัจจัยกดดันสำคัญอยู่ที่แรงขายเก็งกำไรหลังราคาปรับตัวขึ้นมามากในช่วงก่อนหน้า บวกกับทิศทางดอกเบี้ยของ FED ที่ยังมีแนวโน้มปรับขึ้นในปีนี้
ด้านการตอบแบบสอบถามเรื่องความต้องการซื้อทองคำในช่วง 1 เดือนข้างหน้าพบว่าสัดส่วนผู้ที่คิดจะซื้อทองคำในช่วงเดือนเมษายน 2559 มีเพียง 32.32% ขณะที่สัดส่วนผู้ที่ไม่คิดจะซื้อทองคำในเดือนนี้อยู่ที่ 36.36% ของกลุ่มตัวอย่าง ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำในระยะสามเดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน โดยลดลง 1.66 จุดมาอยู่ที่ระดับ 52.36 จุด ซึ่งสะท้อนมุมมองเชิงบวก
ความคิดเห็นผู้ค้าทองคำ (Gold Trader Consensus) จากผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่ ผู้ค้าส่งทองคำ และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำ จำนวน 8 ตัวอย่าง พบว่าผู้ค้าส่วนใหญ่เชื่อว่าราคาทองคำในประเทศเดือนเมษายน 2559 จะปรับตัวใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยมีผู้ค้าเพียง 1 รายมองทองคำเฉลี่ยทองคำในประเทศจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนเมษายน และมีถึง 5 รายมองราคาทองเฉลี่ยจะใกล้เคียงกับเดือนมีนาคม และมี 2 รายที่เชื่อว่าราคาทองคำเฉลี่ยจะปรับตัวลดลงในเดือนเมษายน
ทั้งนี้ ผู้ค้ามองว่าราคาทองคำในตลาดโลกน่าจะมีกรอบราคาสูงสุดอยู่ระหว่าง 1,260-1,280 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์ ส่วนกรอบการเคลื่อนไหวของราคาต่ำสุดอยู่ที่ 1,180-1,200 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อออนซ์
สำหรับราคาทองคำแท่งในประเทศ (ความบริสุทธิ์ 96.5%) กลุ่มตัวอย่างให้น้ำหนักราคาสูงสุดที่ 21,000-21,500 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ และกรอบการเคลื่อนไหวต่ำสุดอยู่ที่ 19,500-20,000 บาทต่อหนึ่งบาททองคำ