สนพ.เตรียมเสนอแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดเข้าสู่กพช.ในส.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 8, 2016 15:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนาเผยแพร่ผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย โดยเตรียมนำเสนอแผนการขับเคลื่อนนี้สู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ช่วงเดือนสิงหาคม 2559 เพื่อผลักดันการใช้งานสมาร์ทกริด ซึ่งเป็นนวัตกรรมบูรณาการระบบแหล่งผลิตไฟฟ้าอัจฉริยะ ลดการสูญเสียทรัพยากรไฟฟ้าที่ผลิตได้ในระหว่างการจัดส่งไฟฟ้าเข้าระบบการใช้งาน ส่งเสริมให้เกิดการไฟฟ้าอย่างประสิทธิภาพ

นายทวารัฐ กล่าวว่า ระบบสมาร์ทกริด (Smart Grid) เป็นระบบไฟฟ้าที่สามารถตอบสนองต่อการทำงานได้อย่างชาญฉลาด หรือมีความสามารถมากขึ้นโดยใช้ทรัพยากรที่น้อยลงมีประสิทธิภาพ มีความน่าเชื่อถือ มีความปลอดภัย มีความยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถทำให้เกิดขึ้นได้โดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีระบบสื่อสารสารสนเทศ (ICT)

ทั้งนี้ ไฟฟ้าเป็นพลังงานประเภทหนึ่งที่มีรูปแบบการใช้งานที่หลากหลายที่สุดหากเปรียบเทียบกับพลังงานในรูปแบบอื่นๆ ถือได้ว่ามีส่วนสำคัญต่อการเติบโตทางด้านอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา โครงสร้างพื้นฐานของระบบไฟฟ้าซึ่งครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการผลิตไฟฟ้า การส่ง การจำหน่าย และการใช้ไฟฟ้าได้ถูกออกแบบและใช้งานมาอย่างยาวนานในอดีต

ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารได้มีความก้าวหน้าไปอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เริ่มมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาประยุกต์ใช้งาน ในระบบไฟฟ้า ซึ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อภาคส่วนต่างๆ ตั้งแต่หน่วยงานด้านการไฟฟ้าไปจนถึงผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไป ทำให้การบริหารจัดการระบบโครงข่ายไฟฟ้าเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพิ่มการตระหนักรู้ถึงข้อมูลต่างๆ ได้มากขึ้นและมีส่วนช่วยให้ระบบไฟฟ้าสามารถรองรับแหล่งผลิตพลังงานไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นได้ สิ่งเหล่านี้คือตัวอย่างของประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาระบบไฟฟ้าให้มีความชาญฉลาด หรือที่รู้จักกันในระดับสากลว่าระบบ “สมาร์ทกริด" หรือระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด

ประเทศไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของระบบสมาร์ทกริดมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว ดังจะเห็นได้ จากการที่หลายหน่วยงานในประเทศได้เริ่มดำเนินการศึกษาวิจัยเทคโนโลยีด้านสมาร์ทกริดต่างๆ รวมถึงได้มีออกแบบและดำเนินการโครงการนำร่องในหลายพื้นที่ ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558 กระทรวงพลังงานได้ประกาศแผนแม่บทการพัฒนาระบบสมาร์ทกริดของประเทศไทย พ.ศ. 2558 – 2579 เพื่อให้การดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องและส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยได้กำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาระบบสมาร์ทกริด คือ เพื่อให้เป็นระบบไฟฟ้า ที่มีความเพียงพอ ยั่งยืน มีคุณภาพบริการที่ดี และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ

โดยได้กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ของการพัฒนาระบบไฟฟ้าสมาร์ทกริดของประเทศไทยโดยแบ่งออกเป็น 5 มิติ ได้แก่ ด้านการพัฒนาความเชื่อถือได้และคุณภาพของไฟฟ้า ด้านความยั่งยืนและประสิทธิภาพของการผลิตและใช้พลังงาน ด้านการพัฒนาการทำงานและการให้บริการของหน่วยงานการไฟฟ้า ด้านการกำหนดมาตรฐานความเข้ากันได้ของอุปกรณ์ในระบบ และด้านการพัฒนาศักยภาพการแข่งขันทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม

แผนแม่บทฯ ได้วางกรอบแนวทางการพัฒนาระบบสมาร์ทกริดของประเทศไทยไว้ในภาพกว้าง อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัตินั้นจำเป็นที่จะต้องมีแผนการในรายละเอียดที่จะช่วยผลักดันการดำเนินงานภายในกรอบของแผนแม่บทฯ ดังนั้น สนพ. จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย เพื่อให้การดำเนินการตามแผนแม่บทฯ เป็นไปอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงของกรอบระยะสั้น คือ พ.ศ. 2560 – 2564

ร่างแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทยในระยะสั้นครอบคลุมกรอบระยะเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2559 – 2564 โดยกระบวนการพัฒนาแผนการขับเคลื่อนฯ ได้ดำเนินการผ่านคณะทำงานเฉพาะกิจที่ได้ถูกจัดตั้งขึ้นจำนวน 5 คณะ แบ่งออกเป็น 5 หัวข้อกลุ่มงาน อันได้แก่ 1) ระบบบริหารจัดการพลังงาน (Energy Management System: EMS) 2) การออกแบบกลไกราคาและสิ่งจูงใจและการตอบสนองด้านโหลด (Pricing & Incentive Design & Demand Response) 3) ระบบไมโครกริด (Microgrid) 4) ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) และ 5) การพยากรณ์ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียนประเภท ลมและแสงอาทิตย์ (Wind & Solar Power Forecast)

ร่างแผนการขับเคลื่อนฯ ได้เสนอแนวทางการดำเนินการในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการจัดเตรียมโครงสร้างที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการ การออกแบบและศึกษาวิจัย การนำร่องสาธิต การส่งเสริมขีดความสามารถ ทั้งในส่วนของบุคลากรและหน่วยงานต่างๆ การทำความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นอกจากนี้ ยังได้เสนอให้มีการติดตามประเมินผลการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถปรับทิศทางและแนวทางการขับเคลื่อนให้เหมาะสมกับบริบทที่เกิดขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ สนพ. เล็งเห็นว่าร่างแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านสมาร์ทกริดของประเทศไทย ในระยะสั้น ควรจะเน้นการเร่งต่อยอดจากโครงการนำร่องด้านสมาร์ทกริดของหน่วยงานต่างๆ จะทำให้เกิดผล อย่างเป็นรูปธรรม เช่น โครงการนำร่องการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริด อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน จังหวัดแม่ฮ่องสอน ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าแบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Microgrid) อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และโครงการพัฒนาโครงข่ายสมาร์ทกริดในพื้นที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นต้น เพื่อทดสอบความคุ้มค่าด้านเทคนิคและเศรษฐศาสตร์ ก่อให้เกิดการพัฒนาการผลิตและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ