แหล่งข่าวระดับสูงจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลังเตรียมเสนอให้คงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่ 7% ต่อไปหลังจากจะสิ้นสุดมาตรการ7% ในวันที่ 30 ก.ย.59 จากที่กำหนดจัดเก็บในอัตรา 10% โดยมองว่าจากสภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องคงการจัดเก็บ VAT ไว้ที่อัตรา 7% ต่อไปอีก 1-2 ปี เพราะหากมีการปรับขึ้น VAT จะส่งผลให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยน้อยลง ในขณะที่รัฐบาลเองยังต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายของภาคประชาชนเป็นสำคัญ
"ในภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ เรายังจำเป็นต้องกระตุ้นการบริโภคในประเทศ เพราะหากปรับขึ้น VAT คนจะใช้จ่ายน้อยลง การขับเคลื่อนเศรษฐกิจอาจจะทำได้ไม่ดีนัก" แหล่งข่าวกล่าว "อินโฟเควสท์"
พร้อมระบุว่า หากรัฐบาลจะพิจารณาปรับขึ้นภาษี VAT ตามข้อแนะนำของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ก็ควรพิจารณาปรับขึ้นเมื่อเศรษฐกิจไทยเริ่มเข้าสู่ในช่วงขาขึ้น และควรทยอยปรับขึ้นทีละ 1% ไม่ใช่การปรับขึ้นเป็น 10% ในคราวเดียว ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดการช็อคของเศรษฐกิจ โดยมองว่าเมื่อเศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ถึงปีละ 5% ก็สมควรที่จะทยอยปรับขึ้นภาษี VAT ได้
"ถ้าเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ช่วงขาขึ้น คือ GDP โตได้ปีละ 5% ก็มีความเหมาะสมที่จะเริ่มทยอยปรับขึ้น VAT ได้ แต่ควรจะทยอยขึ้นสัก 1-2% เพื่อไม่ให้กระทบกับการบริโภค แต่ถ้าเศรษฐกิจยังทรงๆ อยู่แบบนี้ การปรับขึ้น VAT จะมีผลกระทบในวงกว้างมากกว่า" แหล่งข่าวกล่าว
สำหรับการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดานั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่กระทรวงการคลังจะนำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เป็นอย่างเร็วในปลายเดือน เม.ย.นี้ หรืออย่างช้าภายในเดือน พ.ค.