CIMBT คาดส่งออกหดฉุด GDP ไทยเสี่ยงโตต่ำกว่า 3% ถึงปี 60 แนะรัฐเร่งบทบาทนำ กระตุ้นคนชั้นกลาง-สูงใช้จ่าย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 11, 2016 17:55 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIBMT) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงเติบโตช้าเป็นรูปตัว L ที่ฐานอาจลากไปถึงปีหน้า ด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ที่ยังต่ำกว่า 3% ส่งผลให้สำนักวิจัยปรับคาดการณ์ GDP ไทยในปีนี้ลงเหลือเติบโต 2.7% จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 3.3% ส่วนปี 60 คาดว่าขยายตัว 2.8% เนื่องจากประเมินว่าการส่งออกจะหดตัวรุนแรงถึง -4% ในปีนี้จากเดิมคาดไว้ที่ 0% เนื่อวจากการนำเข้าของจีนชะลอลง และหันมาเน้นการอุดหนุนอุตสาหกรรมในประเทศมากขึ้น ขณะที่ปี 60 เชื่อว่าการส่งออกจะยังหดตัวต่อเนื่องราว 1.9%

สำนักวิจัย CIMBT มองว่าประเด็นที่น่าห่วงคือ การลงทุนยังไม่เกิดขึ้นชัดเจน เพราะนักลงทุนกำลังเผชิญปัญหา“ขาดดุลความเชื่อมั่น" เนื่องจากไม่มั่นใจในศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยหลังโตต่ำมาหลายปี การส่งออกติดลบต่อเนื่อง รวมถึงการรอความชัดเจนของการเลือกตั้งในอนาคต ขณะที่มาตรการกระตุ้นการลงทุนยังดูเป็นเรื่องไกลตัวมากกว่าที่จะเห็นผลในเร็ววัน หากพิจารณาการลงทุนภาครัฐ พบว่าโครงการขนาดใหญ่ล่าช้ากว่าคาด ขณะที่โครงการใหม่ในปีนี้คาดว่ามีเพียงโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2, มอเตอร์เวย์สายพัทยา-มาบตาพุด, รถไฟทางคู่ ชุมทางจิระ-ขอนแก่น และ รถไฟฟ้าสายสีส้ม แต่เม็ดเงินเข้าสู่ระบบไม่น่าเกินสามหมื่นล้านบาท

ขณะที่เขตเศรษฐกิจพิเศษนั้นไม่ได้รับความสนใจจากเอกชนเท่าที่ควร แม้ธุรกิจจะได้สิทธิพิเศษทางภาษี แต่ในช่วงที่ผ่านมามีผู้สนใจน้อยมาก เพียง 11 โครงการ เม็ดเงินลงทุน 1.26 พันล้านบาท อุปสรรคมาจากราคาที่ดินพุ่งสูง และ ไทยถูกตัดสิทธิ GSP อีกทั้งค่าแรงในไทยสูงกว่าเพื่อนบ้าน และทำเลที่อยู่ไกลท่าเรือจะมีต้นทุนขนส่งสูง ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้นักลงทุนตัดสินใจไปลงทุนประเทศเพื่อนบ้านแทน

ส่วนมาตรการเร่งรัดการลงทุนสำหรับนักลงทุนที่ได้รับบัตรส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) นั้น เอกชนขนาดใหญ่จะเลือกลงทุนในส่วนที่เล็งเห็นศักยภาพหรือชดเชยเครื่องจักรเดิม แต่อาจมีบางส่วนที่รอดูแนวโน้มและความชัดเจนต่อไปถึงปีหน้า ส่วนนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ แม้เป็นนโยบายที่ดีและหวังให้ไทยก้าวขึ้นสู่ห่วงโซ่อุปทานที่สูงขึ้น มีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น แต่ภาคเอกชนไทยต้องมีการเตรียมความพร้อมต่อความท้าทาย เช่น การพัฒนาทักษะแรงงาน เพิ่มองค์ความรู้ เช่น การวิจัยและพัฒนาในเรื่องต่าง ๆ และหวังให้รัฐดึงเงินลงทุนตรงเข้ามาช่วย

“รัฐบาลต้องสร้างความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง เช่น สร้างความชัดเจนด้านทางการเมืองในอนาคตหลังมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ และเลือกตั้ง อีกทั้งต้องเร่งการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ และความต่อเนื่องของนโยบาย นอกจากนี้รัฐบาลควรปรับโครงสร้างการผลิต เพื่อดึงดูด FDI ที่ไทยสามารถได้ประโยชน์ในการพัฒนา SME เข้าเป็นห่วงโซ่อุปทาน และเร่ง PPP ที่รัฐต้องแสดงบทบาทนำ แม้แต่จะปรับบทบาทรัฐวิสาหกิจให้ก้าวหน้าขึ้น จุดที่เป็นข้อดีคือ หนี้ภาครัฐนับว่ายังต่ำ สามารถใช้นโยบายการคลังนำนโยบายการเงิน กระตุ้นการลงทุนได้ โดยรัฐปรับบทบาทเชิงรุกนำเอกชนในสภาวะที่เอกชนยังไม่ลงมือทำ และวางแนวทางสร้างความยั่งยืนทางการคลัง ไม่เป็นภาระคนรุ่นหลังได้"นายอมรเทพ กล่าว

นายอมรเทพ เสนอว่ารัฐบาลควรออกมาตรการกระตุ้นการบริโภคโดยเน้นไปที่คนชั้นกลางถึงบน เนื่องจากโครงสร้างครัวเรือนไทยเป็นรูปปิรามิด กล่าวคือ คนระดับฐานรากมีปัญหาหนัก มาตรการกระตุ้นต่างๆ ทำได้เพียงประคับประครองตัว การแก้ปัญหาคือต้องเร่งสร้างรายได้นอกภาคเกษตร หาตลาด แหล่งเงินทุน ส่วนคนระดับบนไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจมากนัก ขณะที่คนชั้นกลางแม้รายได้ยังมั่นคง แต่ความเชื่อมั่นลดลงและการใช้จ่ายเริ่มลดลง

ดังนั้น รัฐควรมากระตุ้นการใช้จ่ายจากคนกลุ่มนี้ โดยเฉพาะตลาดที่อยู่อาศัย ยังเติบโตในระดับบน และเป็นหนี้ที่มีคุณภาพดี เพราะถ้าไม่กระตุ้น คนระดับกลางจะค่อยๆขยับลงมากลุ่มฐานราก ปัญหาจะยิ่งซึม การบริโภคของไทยที่โตช้าเพราะเหตุนี้ ประเด็นที่ต้องระวังคือ ผลกระทบด้านความมั่งคั่งของคน (Wealth Effect) ขณะนี้ราคาหุ้นไม่ได้ปรับตัวลง ราคาบ้านยังสูง รายได้การส่งออกยังไม่ได้หดตัวแรง แต่ถ้าลงแรงเมื่อไหร่ คนสองกลุ่มนี้จะกระทบได้

“ที่ครัวเรือนไทยมีปัญหาหนี้สูง รายได้ภาคเกษตรตกต่ำ และความเชื่อมั่นลดลง การกระตุ้นให้ใช้จ่ายเกินตัว อาจส่งผลให้เป็นเพียงการยืมการบริโภคในอนาคตมาใช้ในปัจจุบัน เมื่อแรงกระตุ้นหมด การบริโภคอาจลดลงได้หลังเร่งขึ้นก่อนหน้า เป็นเพียงระยะสั้น ควรหาทางออกด้วยการสร้างรายได้นอกภาคเกษตร" นายอมรเทพ กล่าว

สำหรับการส่งออกนั้นหดตัวแรงในทุกประเทศ จากปัจจัย 1. เศรษฐกิจโลกชะลอ โดยสหรัฐฯอาจเติบโตได้เพียง 2.2% ญี่ปุ่นและยุโรปอาจโตได้ราว 1% และตลาดเกิดใหม่รวมทั้งอาเซียนโตช้าลง 2. เศรษฐกิจจีน ที่แม้จะเติบโตได้ราว 6.3% แต่จีนปรับโครงสร้างการผลิต ที่ลดการนำเข้า เน้นภาคบริการ ลดสัดส่วนภาคการผลิต นำเข้าลดลง ใช้ของที่ผลิตในประเทศมากขึ้น 3. ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลง ราคาน้ำมันลดลง คาดราคาน้ำมันเฉลี่ย 35 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลปีนี้ จากการที่อิหร่านยังคงเพิ่มกำลังการผลิต ขณะที่ไทยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าเกษตร น้ำมันและ ปิโตรเคมี ราว 20% (ปี 58 หดตัวราว 17% เทียบการส่งออกทั้งหมดที่หดตัวราว 5.6%) และ 4. ไทยขาดการลงทุนผลิตสินค้าใหม่ๆมานาน ผลิตสินค้ามูลค่าเพิ่มไม่สูง ขณะที่การค้าโลกต้องการเทคโนโลยี

นายอมรเทพ กล่าวว่า หากไทยไม่ปรับตัว อาจทำให้เราจะอยู่ห่างห่วงโซ่อุปทานโลก การส่งออกหดตัว แต่การนำเข้าหดตัวแรงกว่า ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้ามาก อีกทั้งมีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจึงเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาก แต่เป็นการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดแบบไม่ปกติ สำหรับการท่องเที่ยวนั้น คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะเติบโตขึ้น 10% สู่ระดับ 33 ล้านคน แต่การใช้จ่ายอาจไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก อัตราการเข้าพักขยับขึ้นไม่สูง ขณะที่ราคาห้องพักยังต่ำ

ด้านตลาดการเงิน สภาพคล่องในประเทศมีมาก เศรษฐกิจเกิดภาวะ ‘ออมมากเกินไป’ (over-saving) ‘ลงทุนน้อยไป’ (under-investment) หากจะลดดอกเบี้ยลงต่อก็อาจจะช่วยได้ไม่มาก คนยิ่งออมเงินเพราะความไม่แน่นอนสูง ออมเพื่อเก็บไว้ใช้อนาคต และอาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรม search for yield หรือการวิ่งเข้าหาผลตอบแทนสูงมากเกินไป ซึ่งนำไปสู่ภาวะฟองสบู่ได้

ขณะที่ค่าเงินบาทมีทิศทางที่อ่อนค่า แต่มองเงินไหลเข้าในช่วงไตรมาสแรกเป็นเพียงชั่วคราว หลังนักลงทุนต่างชาติคาดเฟดไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย จึงมาหาผลตอบแทนสูงในตลาดเกิดใหม่ เงินไหลเข้าตลาดทุน ต่างชาติซื้อสุทธิพันธบัตรไทยเกือบสองแสนล้านบาท โดยมากเข้าพันธบัตรระยะสั้น ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าในช่วงไตรมาสแรกราว 2.2% เทียบดอลลาร์สหรัฐฯ จากปลายปีก่อน แต่ก็ยังนับว่าแข็งค่าน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

อย่างไรก็ดี สำนักวิจัยฯมองว่าค่าเงินบาทจะอ่อนค่าในไตรมาส 2 จากสงครามค่าเงินที่ยังมีอยู่ และมีแรงกดดันให้ลดดอกเบี้ยเพื่อให้บาทอ่อน และเชื่อว่าเฟดพร้อมขึ้นดอกเบี้ยช่วงปลายปี ซึ่งระหว่างนี้ให้จับตาการผ่อนคลายทางการเงินของจีน ที่อาจกระทบความผันผวนทางการเงินกับไทยได้ ขณะที่ธปท. ยังคงผ่อนคลายมาตรการทุนเคลื่อนย้าย

นายอมรเทพ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นอย่างแข็งแกร่งหลังมีความชัดเจนจากเศรษฐกิจโลกและความเชื่อมั่นในประเทศฟื้น แนะนำให้เอกชนรักษาสภาพคล่องของตัวเองและทยอยลงทุนเมื่อเห็นจังหวะ เพราะดอกเบี้ยต่ำเช่นนี้อาจอยู่ไม่นาน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ