พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืนยันนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้แนวทางประชารัฐ ไม่ได้เอื้อประโยชน์ต่อภาคเอกชน และไม่มีการเรียกรับผลประโยชน์ตอบแทน เรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักความขัดแย้ง
"การประชุมคณะทำงานในครั้งนี้ไม่ได้เป็นการเอื้อประโยชน์ให้ภาคธุรกิจเอกชนเท่านั้น เพราะทุกภาคส่วนต้องยึดโยงกัน และการดำเนินการต่างๆต้องนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาตามขั้นตอน และจะต้องไม่ทำให้เกิดการผูกขาด ซึ่งภาครัฐก็ไม่มีการเรียกรับผลประโยชน์อย่างแน่นอน หากภาคเอกชนพบว่ามีพฤติกรรมเหล่านี้ให้แจ้งมายังรัฐบาลได้ทันที ขณะเดียวกันขอให้ใช้โอกาสเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ปรับเปลี่ยนประเทศไทยในเรื่องการใช้ทรัพยากรและพลังงาน โดยเฉพาะเรื่องน้ำ ซึ่งขณะนี้อย่ากังวลว่าจะมีน้ำไม่เพียงพอ แต่ต้องมีกระบวนการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ในการกักเก็บน้ำให้ใช้ได้อย่างคุ้มค่า และแม้ไทยมีทรัพยากรอยู่มาก แต่ต้องมีการนำมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งขึ้นอยู่กับทุกคนที่ต้องมีคุณธรรม และใช้อย่างรู้คุณค่า" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้รับฟังการรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ 12 คณะ อาทิ คณะทำงานด้านการยกระดับนวัตกรรมและผลิตภาพ, คณะทำงานด้านการส่งออกและลงทุนในประเทศ, คณะทำงานด้านการศึกษาพื้นฐานและพัฒนาผู้นำ ซึ่งคณะทำงานทั้ง 12 ด้านมีเป้าหมายในการลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาคุณภาพคน ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันให้กับประเทศ
โดยคณะทำงานแต่ละคณะได้รายงานความคืบหน้าของการดำเนินงานในช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.ที่ผ่านมาให้นายกรัฐมนตรีรับทราบ เช่น คณะทำงานพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากฯ ได้รายงานความคืบหน้าโครงการสร้างรายได้ให้ชุมชนประชาชนมีความสุขในพื้นที่เป้าหมาย 18 กลุ่มจังหวัด ที่เน้นสร้างรายได้จากการเกษตร การแปรรูปสินค้า การท่องเที่ยวโดยชุมชน เชื่อมโยงตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง จัดตั้งในรูปแบบบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีประเทศไทย จำกัด,
คณะทำงานด้านการศึกษาพื้นฐานและพัฒนาผู้นำ ได้นำเสนอความคืบหน้าการดำเนินงานที่เน้นใช้สื่อคุณภาพส่งเสริมการเรียนการสอน เปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อคไปสู่ดิจิตอล ให้โอกาสนักเรียนในท้องถิ่นต่างๆ เข้าถึงการศึกษาพัฒนาความเป็นผู้นำ เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง โดยการขับเคลื่อนโรงเรียนประชารัฐ และเน้นต่อยอดงานวิจัยพัฒนา ด้วยการจัดกองทุนวิจัยแห่งชาติ เน้นภาษาอังกฤษทุกชั้นปี เพื่อพัฒนาเด็กในช่วง 10 ปีแรกของการเรียน รวมถึงเน้นระดมทุนด้านการศึกษาจากภาคเอกชน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีความจำเป็นต้องวางโครงสร้างใหม่ทั้งหมดตามแนวทางการปฏิรูปประเทศหลัง 22 พฤษภาคม2557 ซึ่งแนวทางสานพลังประชารัฐ เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปแต่ต้องอาศัยการเรียนรู้ และสร้างความเข้าใจกับประชาชน ดังนั้นจึงต้องเพิ่มกระบวนการเรียนรู้ให้มากขึ้น
"ขณะนี้เป็นช่วงการขับเคลื่อนโรดแมปไปสู่อนาคต ซึ่งสิ่งสำคัญคือการสร้างความเข้มแข็งทุกภาคส่วนและต้องไม่ทำให้ประชาชนเป็นหุ่นยนต์รอรับความช่วยเหลืออย่างเดียว แต่ต้องพัฒนาคนให้ใช้หุ่นยนต์แทนได้ และมีทางเลือกให้ประชาชน เพราะในอนาคตการเพิ่มทักษะในกระบวนการของคนเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นรัฐบาลนี้จึงวางนโยบายให้ประเทศเดินไปในอนาคต โดยยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายและไม่ใช่เรื่องง่าย ซึ่งไทยมีความแตกต่างทางอาชีพและรายได้" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประเทศไทยยังติดกับดักเรื่องความขัดแย้ง ทำให้ประเทศอยู่กับที่หรืออาจจะถอยหลัง ดังนั้นจะต้องสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศเพื่อให้ทุกฝ่ายเดินไปด้วยกัน ขณะเดียวกันอย่ากังวลตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ที่อาจจะไม่ขึ้นถึงร้อยละ 4 เพราะที่ผ่านมาก่อนที่ตนเองจะเข้ามาตัวเลข GDP ตกต่ำมากกว่านี้ ที่สำคัญต้องเร่งให้ภาคประชาชนมีภูมิคุ้มกัน รวมทั้งสร้างความสุข ความพึงพอใจให้ประชาชน นำไปสู่ประเทศไทยในยุค 4.0 ให้ได้ ทุกคนต้องมีจิตสำนึก ซึ่งตนเองต้องการให้มีการสื่อสารให้ทุกคนได้เข้าใจลงไปถึงคนระดับล่าง เพราะการขับเคลื่อนการทำงานก็มีคณะรัฐมนตรีที่รับทราบถึงปัญหาทั้งหมด แต่ไม่มีการจัดการปัญหา ไม่มีแผนงานยุทธศาสตร์ที่ดีเพียงพอ การปฏิรูปในระยะที่ 1 จะต้องดำเนินการให้ได้ ส่วนระยะต่อไปก็ต้องวางแผนสอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติและการเปลี่ยนแปลงทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย คำนึงถึงประชาชนเป็นหลักและต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน
นายกรัฐมนตรี ย้ำถึงการลงทุนด้านอุตสาหกรรมอีโคคาร์ว่า รัฐบาลยังไม่ได้มีนโยบายให้ยกเลิก แต่ต้องพัฒนาให้ดีขึ้น เช่นเดียวกับการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษก็ไม่ควรกังวลว่ารัฐบาลจะสนับสนุนการขายที่ดินให้ต่างชาติ แต่เป็นการให้เช่า เพราะรัฐบาลทำหน้าที่ปกป้องแผ่นดิน จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้สูญเสียแผ่นดิน ขณะเดียวกันในส่วนสินค้าเกษตร เช่น ยางพารา ขณะนี้ราคาในประเทศเริ่มดีขึ้น และยังเร่งตั้งนิคมอุตสาหกรรมยางพารา หรือรับเบอร์ซิตี้ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว และกระตุ้นการใช้ยางพาราในประเทศ
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเข้าร่วมหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (ทีพีพี) นั้น ทุกครั้งที่เข้าร่วมการประชุมในเวทีต่างๆ ได้ฝากให้ไปพิจารณาว่า หากจะให้ไทยเข้าร่วมจะกระทบต่อเรื่องยา เมล็ดพันธุ์พืช และสินค้าจีไอในท้องถิ่นหรือไม่ ดังนั้นขอให้อย่ากังวลเกินไป
ขณะที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการโครงการสานพลังประชารัฐ ทั้ง 12 คณะ เพื่อร่วมกำหนดแผนงานและกิจกรรม ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีและนับเป็นประวัติศาสตร์ที่ภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชนเข้ามาร่วมเสนอทิศทางและความร่วมมือการทำงานในหลายๆ ด้าน ทั้งการยกระดับนวัตกรรมและผลิตภาพ การปรับแก้กฎหมายและกลไกภาครัฐ การพัฒนาคัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต รวมถึงการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งวันนี้เป็นการรายงานผลการดำเนินในห่วงที่ผ่านมาเพื่อให้นายกรัฐมนตรีได้รับทราบความก้าวหน้าเพิ่มเติม เช่น การปฏิรูปภาคเกษตร โดยการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรไทย และการพัฒนานักอาชีวะศึกษาให้เป็นบุคลกรที่ทักษะเพื่อเป็นทางเลือกในการสนับสนุนอุตสาหกรรมในอนาคตของประเทศไทย
นายสมคิด กล่าวว่า การทำงานของภาคเอกชนขณะนี้มีการวางรากฐานการทำงานที่ดี ซึ่งรัฐบาลจะทำหน้าที่ผลักดัน เพื่อวางรากฐานให้กับรัฐบาลต่อๆไปนำไปปฏิบัติเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ ส่วนการจัดการแก้ปัญหาความยาก-ง่ายในการทำธุรกิจ หรือดูอิงบิสสิเนสของประเทศไทย สิ่งสำคัญที่ต้องแก้ไขคือกฎหมายที่ล่าสมัยเพื่ออำนวยความสะดวกในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้เชื่อว่าภายใน 2 ปีจะสามารถปรับเพิ่มอันดับได้จากปัจจุบันที่ไทยถูกจัดการแก้ปัญหาความยาก-ง่ายในการทำธุรกิจอยู่อันดับที่ 49 แต่สิ่งสำคัญคือภาคเอกชนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน
ขณะที่นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า กระบวนการพัฒนาประเทศไทยภายใต้ “ประเทศไทย 4.0” โดยเน้นการสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งเป็นการขับเคลื่อนการปฎิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ การปฎิรูปการวิจัยและพัฒนา และการปฎิรูปการศึกษาไปพร้อม ๆ กัน อีกทั้งเป็นการผนึกกำลังของ 3 ภาคส่วนภายใต้แนวคิด “ประชาชน” ตลอดจนการขับเคลื่อนเพื่อตอบโจทย์การเป็นประเทศที่มั่นคั่ง มั่นคง และยั่งยืนอย่างแท้จริง