ม.หอการค้าไทย เผยภัยแล้งดันราคาสินค้าพุ่ง ทำรายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย แนะขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 5-7%

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 19, 2016 17:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจความเห็นประชาชนเรื่อง "ค่าครองชีพไทยแพงจริงหรือจากผลกระทบของประชาชนในช่วงภัยแล้ง" ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ระบุว่ามีสินค้า 9 ประเภทที่ราคาสูงขึ้นจนกระทบต่อค่าครองชีพ ประกอบด้วย เนื้อหมูและไก่, ปลา, อาหารทะเล, ผลไม้, อาหารจานเดียว/อาหารตามสั่ง, ข้าวราดแกง, ก๋วยเตี๋ยว, ปัจจัยทางการเกษตร (ปุ๋ย, อาหารสัตว์, ยา/เคมีกำจัดศัตรูพืช) และค่าเทอม/ค่ากวดวิชา

ทั้งนี้หลังจากสินค้าเหล่านี้มีราคาสูงขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อกลุ่มอาชีพเกษตรกร, พนักงานบริษัท และลูกจ้างทั่วไปมากที่สุด ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้น้อย และกลุ่มคนเหล่านี้มีรายได้ลดลงหรือเพิ่มขึ้นไม่มากนัก สวนทางกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น และเมื่อรู้สึกว่ารายได้น้อยก็จะมองว่าสินค้าส่วนใหญ่มีราคาแพงขึ้น ทั้งๆ ที่ภาพรวมสินค้าส่วนใหญ่ราคาคงเดิม โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค ยกเว้นสินค้าบางประเภทที่ราคาเพิ่มขึ้นตามฤดูกาล เช่น ผัก เนื้อสัตว์

อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่เสนอให้รัฐบาลเร่งควบคุม ดูแลราคาสินค้า และให้นายจ้างปรับขึ้นเงินเดือนและค่าจ้างอีก 5-7% โดยเฉพาะค่าจ้างขั้นต่ำจากวันละ 300 บาทเป็น 310 บาท เพื่อให้เหมาะสมกับค่าครองชีพในปัจจุบัน ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรเพิ่มมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะหากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวล่าช้ายิ่งขึ้น เพราะประชาชนยังคงระมัดระวังการใช้จ่าย

ส่วนภาคเกษตรกรรมนั้น รัฐบาลควรเร่งผลักดันให้เกษตรกรมีรายได้เสริมจากนโยบายส่งเสริมการจ้างงานตามตำบลต่างๆ ในโครงการตำบลละ 5 ล้านบาท สำหรับแนวทางในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการซื้อสินค้าที่มีราคาสูงขึ้นคือ จะเน้นซื้อของเท่าที่จำเป็นหรือซื้ออย่างมีเหตุผล, ประหยัดมากขึ้น, ใช้จ่ายน้อยลงโดยลดปริมาณ, เปลี่ยนสถานที่ในการซื้อสินค้าที่ถูกกว่า เป็นต้น

ทั้งนี้ กรมการค้าภายในได้รายงานราคาสินค้าในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน เม.ย.59 โดยพบว่า ราคาผักคะน้า, ผักบุ้งจีน, ผักกวางตุ้ง, ผักชี, ต้นหอม, พริกขี้หนู(จินดา), มะนาว และเนื้อสุกร สูงขึ้นจากก่อนเทศกาลสงกรานต์ เพราะผลกระทบจากอากาศที่ร้อน และแล้งจัด ทำให้ผักส่วนใหญ่เติบโตช้าและผลผลิตเสียหาย โดยราคาขายปลีกผักคะน้าอยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 25-28 บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนสงกรานต์ กก.ละ 3 บาท ผักชีขีดละ 12-13 บาท เพิ่มขึ้นขีดละ 4 บาท, มะนาวแป้น เบอร์ 1-2 ผลละ 7-8 บาท เพิ่มขึ้นผลละ 0.50-1 บาท ในบางพื้นที่ราคาสูงถึงลูกละ 10 บาท สุกรชำแหละเนื้อแดง (ตะโพก) กก.ละ 135-140 บาท เพิ่มขึ้น กก.ละ 5 บาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ