(เพิ่มเติม1) ครม.เห็นชอบปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา-เพิ่มค่าลดหย่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 19, 2016 17:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยให้ปรับปรุงขั้นเงินได้ และบัญชีอัตราภาษี พร้อมทั้งเพิ่มค่าลดหย่อน โดย ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินในปีภาษี 2560 เป็นต้นไป

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนี้

1. ปรับปรุงการหักค่าใช้จ่ายของเงินเดือน ค่าจ้าง ค่านายหน้า ฯลฯ อันเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) และ (2) แห่งประมวลรัษฎากร จากเดิมให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 ของเงินได้แต่ไม่เกิน 60,000 บาท เป็นร้อย ละ 50 ของเงินได้แต่ไม่เกิน 100,000 บาท

2. ปรับปรุงการหักค่าใช้จ่ายของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (3) แห่งประมวลรัษฎากร จากเดิมให้หักได้เฉพาะ ค่าแห่งลิขสิทธิ์โดยให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 40 ของค่าแห่งลิขสิทธิ์แต่ไม่เกิน 60,000 บาท ขยายเพิ่มให้ ค่าแห่ง กู๊ดวิลล์ ค่าแห่งลิขสิทธิ์ หรือสิทธิอย่างอื่น สามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้ร้อยละ 50 ของเงินได้ดังกล่าว แต่ไม่เกิน 100,000 บาท หรือหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรได้

3. ปรับปรุงการหักค่าลดหย่อน ดังนี้

(1) ค่าลดหย่อนสำหรับผู้มีเงินได้ จากเดิม 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท

(2) ค่าลดหย่อนสำหรับคู่สมรสของผู้มีเงินได้ จากเดิม 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท

(3) ค่าลดหย่อนบุตรจากเดิมคนละ 15,000 บาท และจำกัดจำนวนไม่เกิน 3 คน เป็นคนละ 30,000 บาท โดยไม่ จำกัดจำนวนบุตร และยกเลิกค่าลดหย่อนการศึกษาบุตร (จากเดิมที่ให้หักลดหย่อน 2,000 บาท/คน)

(4) ในกรณีที่คู่สมรสต่างฝ่ายต่างมีเงินได้ ให้หักลดหย่อนรวมกันได้ไม่เกิน 120,000 บาท

(5) กองมรดกเดิมให้หักลดหย่อนได้ 30,000 บาท เป็น 60,000 บาท

(6) ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล เดิมให้หักลดหย่อนแก่หุ้นส่วนคนละ 30,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่ เกิน 60,000 บาท เป็นคนละ 60,000 บาท แต่รวมกันต้องไม่เกิน 120,000 บาท

4. ปรับปรุงขั้นเงินได้ และบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ดังนี้

     บัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน	บัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีการปรับปรุง
          เงินได้สุทธิ	อัตราภาษี (ร้อยละ)	            เงินได้สุทธิ	     อัตราภาษี (ร้อยละ)

           1-300,000*	      5	                   1-300,000*	        5
      300,001-500,000	     10	             300,001-500,000	       10
      500,001-750,000	     15    	     500,001-750,000	       15
    750,001-1,000,000	     20	           750,001-1,000,000          20
  1,000,001-2,000,000	     25	         1,000,001-2,000,000	       25
  2,000,001-4,000,000       30	         2,000,001-5,000,000          30
       4,000,001 ขึ้นไป       35  	      5,000,001 ขึ้นไป	       35
  • ทั้งนี้ การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้สุทธิ 150,000 บาทแรกยังคงสามารถใช้ต่อไปตามพระราช
กฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 470) พ.ศ. 2551

5. ปรับปรุงเกณฑ์เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่ผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี ดังนี้

(1) กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) เพียงประเภทเดียว

  • หากผู้มีเงินได้เป็นโสด จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้เกิน 50,000 บาท เป็นต้องมีเงินได้เกิน 100,000 บาท
  • หากผู้มีเงินได้มีคู่สมรส จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้รวมกันเกิน 100,000 บาท เป็นต้องมีเงินได้รวมกันเกิน
200,000 บาท

(2) กรณีมีเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เงินเดือน ค่าจ้าง) และมีเงินได้ประเภทอื่นด้วย หรือกรณีมีเฉพาะเงินได้ ประเภทอื่นที่ไม่ใช่เงินได้จากการจ้างแรงงาน

  • หากผู้มีเงินได้เป็นโสด จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้เกิน 30,000 บาท เป็นต้องมีเงินได้เกิน 60,000 บาท
  • หากผู้มีเงินได้มีคู่สมรส จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้รวมกันเกิน 60,000 บาทเป็นต้องมีเงินได้รวมกันเกิน
120,000 บาท

(3) กรณีกองมรดกของผู้ตายที่ยังมิได้แบ่ง จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้เกิน 30,000 บาทเป็นต้องมีเงินได้เกิน 60,000 บาท

(4) กรณีห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล จากเดิมต้องยื่นแบบฯ เมื่อมีเงินได้เกิน 30,000 บาท เป็น ต้องมีเงินได้เกิน 60,000 บาท

6. การปรับปรุงดังกล่าวข้างต้น ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินในปีภาษี 2560 เป็นต้นไป

การปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จะทำให้การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีความเหมาะสมเป็น ธรรม สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและค่าครองชีพในปัจจุบัน อีกทั้งเป็นการช่วยบรรเทาภาระภาษีแก่ผู้มีเงินได้โดยผู้เสียภาษีที่มี เฉพาะเงินได้ประเภทเงินเดือนและหักลดหย่อนส่วนตัวโดยไม่ใช้สิทธิลดหย่อนรายการอื่น จะเริ่มเสียภาษีเมื่อมีเงินได้ 26,000 บาท ต่อเดือน

นายอภิศักดิ์ กล่าว่า สาเหตุที่ปรับอัตราภาษีใน 2 ขั้นสุดท้าย เพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และต้องการให้ ภ.ง.ด. ใกล้เคียงกับนิติบุคคล ซึ่งกลุ่มที่ต้องเสียภาษีในอัตรา 35% มีอยู่ประมาณ 10.3 ล้านคน

ทั้งนี้ แม้ว่าการปรับปรุงโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาครั้งนี้จะประเมินว่าทำให้การจัดเก็บรายได้เข้ารัฐลดลงปี ละ 32,000 ล้านบาท แต่คาดหวังว่าจะสามารถเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ได้มากขึ้น จากปัจจุบัน สัดส่วนรายได้จกาภาษีบุคคล ธรรมดาคิดเป็น 17% ภาษีนิติบุคคล 32% ภาษีมูลค่าเพิ่ม 41% ภาษีธุรกิจเฉพาะ 3% และภาษีธุรกิจปิโตรเลียม 5% ฯลฯ

ส่วนโครงสร้างภาษีมูลค่าเพิ่ม ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องขยับขึ้น

"เรื่องจะเก็บ VAT ได้มากหรือน้อยในปี 60 นั้น ขึ้นอยู่กับการจับจ่ายใช้สอยในช่วงนั้น แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะฟื้น ตัวแล้ว... ผมคิดว่าสิ่งที่รัฐบาลนี้ได้เตรียมไว้เรียกว่าเป็นพื้นฐานของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศเราเพื่อรองรับเมื่อ เศรษฐกิจโลกฟื้นและเราก็จะฟื้นเร็วกว่าในตอนนั้น"รมว.คลัง กล่าว

นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบต่ออายุมาตรการภาษีสนับสนุนสถานศึกษา อีก 3 ปี โดยผู้ที่สนับสนุนสามารถนำค่าใช้จ่ายไป หักลดหย่อนได้ 2 เท่า

"สิ่งที่กระทรวงการคลังพยายามทำ พยายามผูกเรียงร้อยกันไป แต่ละเรื่องไม่สามารถออกมาพร้อมกันก็ต้องพิจารณาทีละ ชุด และเมื่อเอาทั้งหมดที่ออกมาๆรวมกันแล้ว ก็จะเป็นภาพใหญ่สำหรับประเทศไทยในอนาคตการเก็บภาษีของเราจะมีฐานกว้างขึ้นและ จะมีความเท่าเทียมกันมากขึ้น"รมว.คลัง กล่าว


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ