นายดุสิต เครืองาม สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในฐานะนายกสมาคมอุตสาหกรรมเซลล์แสงอาทิตย์ไทย กล่าวว่า กลุ่มหน่วยงานสหกรณ์ที่ไม่ผ่านคุณสมบัติเข้าไปร่วมจับสลากตัดสินใจที่จะไม่ยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอระงับการจับสลากโครงการดังกล่าว โดยจะรอคำชี้แจงอย่างเป็นทางจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ออกมาอย่างเป็นทางการก่อน
ดังนั้น คาดว่าการจับสลากเพื่อคัดเลือกผู้เข้าดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร (โซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ) ระยะแรกที่จะมีขึ้นในวันพรุ่งนี้ (21 เม.ย.) จะดำเนินการต่อไปได้
"วันนี้คงจะไม่มีกลุ่มสหกรณ์ฯใดไปฟ้องต่อศาลปกครอง เพราะยังไม่พร้อมและมองว่าเหตุผลยังอ่อนไปหน่อย และ กกพ.ก็ยืนยันว่าทำตามขั้นตอนกระบวนการต่างๆ ส่วนอะไรที่เป็นข้อสงสัยทาง กกพ.ก็จะทำหนังสือชี้แจงกลับมา เราก็จะรอจนกว่าจะได้หนังสือชี้แจงกลับมา ซึ่งวันที่ 21 นี้ก็คงมีการจับสลากกันไปก่อน"นายดุสิต กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
นายดุสิต กล่าวว่า เมื่อวานนี้กลุ่มหน่วยงานสหกรณ์ราว 10 แห่งได้เข้าร้องเรียนต่อสำนักงาน กกพ. เพื่อขอให้ตรวจสอบรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเข้าจับสลากคุณสมบัติ และได้มีการหารือร่วมกัน ซึ่งทางกกพ.ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาชี้แจงถึงสาเหตุที่โครงการไม่ผ่านคุณสมบัติอย่างไร ซึ่งในบางส่วนอาจจะมีเรื่องของเอกสารไม่ครบ เป็นต้น
ด้านแหล่งข่าววงการผู้ผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เห็นว่า กกพ.น่าจะชะลอการดำเนินโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯดังกล่าวออกไปก่อน แม้ว่าในวันนี้จะไม่มีหน่วยงานสหกรณ์ไปฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้ชะลอการจับสลากก็ตาม แต่ก็ยังมีความกังวลว่าเมื่อมีผลการจับสลากออกมาแล้ว ก็มีความเป็นไปได้ที่กลุ่มที่ไม่ได้รับการคัดเลือกอาจจะไปยื่นฟ้องต่อศาลฯเพื่อให้ระงับโครงการ เนื่องจากยังมีบางกระบวนการที่ทางกกพ.ดำเนินการเปิดช่องโหว่ให้มีการฟ้องร้องเกิดขึ้นได้
"หากวันนี้ไม่มีการฟ้องร้องก็คิดว่าเขาคงรอเพราะคนที่ผ่านเข้ามามีทั้งส่วนที่ได้และไม่ได้ ก็คงไปรอการจับสลากไปก่อน แล้วค่อยมาว่ากันอีกที คาดว่าอาจจะวุ่นวายกว่าเดิม เพราะคนที่ทำถูกก็ห่วงว่าพวกที่จับสลากไม่ได้อาจมาฟ้องให้เป็นโมฆะหมด เพราะ กกพ.ทำไม่ถูกต้อง อย่างเช่นกรณีพื้นที่สีเขียวที่ตามระเบียบยึดตามข้อมูลวันที่ 20 พ.ย.58 ก็จะไม่สามารถผ่านเข้ามาได้ แล้วต่อมามีการออกมาตรา 44 เรื่องยกเว้นการบังคับใช้ผังเมืองเมื่อเดือน ม.ค.59 แต่มีผลย้อนหลังมาวันที่ 20 พ.ย.ได้อย่างไร ถ้าเกิดผลแบบนี้ใครจะรับผิดชอบ"แหล่งข่าว กล่าว
อนึ่ง กกพ.ออกประกาศและหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯ ไม่เกิน 800 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกจำนวน 600 เมกะวัตต์ และประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเบื้องต้น 167 ราย กำลังการผลิตสูงสุดรวม 835 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นกลุ่มสหกรณ์การเกษตรทั้งหมด ขณะที่กลุ่มราชการถูกตัดสิทธิในรอบนี้ เพราะขัดหลักเกณฑ์พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ ทำให้การจับสลากระยะแรกจะคัดเลือกให้เหลือเพียง 300 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโควตาในส่วนของกลุ่มสหกรณ์เท่านั้น โดยผู้ที่ผ่านคุณสมบัติจะมีสิทธิเข้าไปร่วมจับสลากในวันพรุ่งนี้