น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เตรียมเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในวันที่ 25 เม.ย.นี้ พิจารณาแผนการระบายข้าวสารรัฐบาลเกรดซี (ข้าวเสื่อมคุณภาพ ข้าวผิดมาตรฐาน) ที่ปะปนอยู่ในคลังเดียวกับข้าวเกรดพี เอ และบี (ข้าวผ่านมาตรฐาน) จำนวน 11.6 ล้านตัน
โดยข้าวเกรดซีที่ผสมกับเกรดพี เอ และบี มีการปะปนกันตั้งแต่ 1-50% เบื้องต้นกำหนดการระบายไว้ 3 รูปแบบ คือ รูปแบบที่ 1 มีข้าวเกรดซีที่ปะปนกับข้าวเกรดพี เอ และบี ในแต่ละคลังไม่เกิน 20% ปริมาณ 7.5 ล้านตัน เช่น ข้าว 1 คลัง มี 10 กอง จะมีข้าวเกรดซีอยู่ 2 กอง โดยจะเปิดประมูลเป็นการทั่วไปแบบยกคลัง เพื่อให้การระบายข้าวทำได้รวดเร็ว หากมีการแยกข้าวเกรดซีออกมา จะทำให้รัฐบาลมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
รูปแบบที่ 2 มีข้าวเกรดซีปะปนกับข้าวเกรดพี เอ และบี มากกว่า 20% ขึ้นไปรวม 1.3 ล้านตัน ซึ่งจะเปิดประมูลเป็นการทั่วไป โดยนำไปผลิตได้ทั้งอาหารคน สัตว์ และเข้าสู่อุตสาหกรรม แต่จะตรวจสอบ และควบคุมการขนย้ายข้าวเกรดซีตั้งแต่โกดังจนถึงโรงงานผู้ซื้อเข้มงวด โดยมอบหมายให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ดำเนินการ
รูปแบบที่ 3 มีข้าวเกรดซีอยู่เกือบทั้งคลัง และมีข้าวเกรดพี เอ และบี ปะปนเล็กน้อยเท่านั้น ปริมาณ 2.4 ล้านตัน ซึ่งจะระบายสู่อุตสาหกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับคนและสัตว์ โดยข้าวกลุ่มนี้ ตั้งเป้าระบายให้หมดทั้ง 2.4 ล้านตันภายในปี 59
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า สำหรับการประมูลข้าวครั้งต่อไปจะเป็นเมื่อใด ข้าวชนิดใด และปริมาณเท่าไรนั้น อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด แต่จะรีบนำข้าวเสีย 2.4 ล้านตันออกมาระบาย ซึ่งตามกรอบการระบายข้าวจะอยู่ในช่วงเดือนมี.ค.-ก.ค.59 เพราะเป็นช่วงที่ผลผลิตข้าวยังไม่ออกสู่ตลาด และเป็นช่วงที่เหมาะสม
นอกจากนี้ เตรียมเสนอให้ที่ประชุมนบข.ให้พิจารณาอนุมัติการจัดตั้งสถาบันการพาณิชย์ข้าว เพื่อวิจัยและพัฒนาข้าวไทยไปสู่การเป็นซูเปอร์ฟูดส์ หรือผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย และมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของโลก โดยจะของบประมาณจัดตั้งประมาณ 600 ล้านบาท หากได้รับการอนุมัติ จะดำเนินการจัดตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 5-6 เดือน "ข้าวทำเป็นสินค้าอื่นๆ ได้หลากหลายกว่าการขายแค่สินค้าเกษตรขั้นปฐม ที่ผ่านมาไม่มีใครทำ อาจไม่กล้าลงทุน จึงต้องมีสถาบันนี้เพื่อวิจัยและพัฒนา นำข้าวไปผลิตเป็นสินค้าอื่นๆ ที่มีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรขายข้าวได้ราคาดีขึ้น และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้ ถ้า นบข. เอาด้วย สถาบันนี้เกิดแน่ เพราะข้าวเป็นสินค้าที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระราชินี ทรงให้ความสำคัญ และทรงย้ำเสมอว่าข้าวคือชีวิต" น.ส.ชุติมา กล่าว
โดยข้าวสามารถนำมาเป็นวัตถุดิบใช้ผลิตสินค้าได้หลากหลาย ทั้งการนำข้าวไปผลิตเป็นอาหารสำหรับเด็ก คนชรา คนวัยหนุ่มสาว อาหารลดความอ้วน ลดเบาหวาน หรือเครื่องสำอาง ยา น้ำมันจากรำข้าว ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาดีกว่าน้ำมันมะกอก แต่กว่าจะผลิตเป็นสินค้าเหล่านี้ได้ ต้องมีการวิจัยและพัฒนา ซึ่งใช้เงินสูงมาก บริษัทเอกชนอาจไม่กล้าทำ เพราะอาจไม่คุ้มค่า แต่หากสถาบันฯเป็นผู้วิจัยและพัฒนาจนสำเร็จ ก็อาจมีนักลงทุนสนใจนำไปผลิตเป็นสินค้าออกสู่ตลาดได้ ซึ่งจะช่วยยกระดับรายได้ และความเป็นอยู่ของเกษตรกรได้
"ตั้งเป้าหมายว่า สถาบันนี้จะสามารถสร้างความแข็งแกร่งให้กับข้าวไทยได้ภายใน 5 ปีหลังจากการจัดตั้ง และจะสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ราว 10,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐจะสามารถจัดเก็บรายได้จากแวตได้ถึง 700 ล้านบาท จากเดิมที่ขายการข้าวสารไม่สามารถจัดเก็บแวตได้ แต่ถ้าภายใน 5 ปียังไม่มีอะไรเกิดขึ้น คงต้องยุบทิ้งได้เลย" น.ส.ชุติมา กล่าว