รฟท.ส่งมอบพื้นที่มักกะสันส่วนแรก 105 ไร่ให้กรมธนารักษ์ 1 ก.ค.-พร้อมเดินรถสายสีแดงเอง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 20, 2016 17:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานวันนี้ ได้พิจารณาแผนการส่งมอบพื้นที่ย่านมักกะสันของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จำนวน 497.11 ไร่ ให้กับกรมธนารักษ์ เพื่อแลกกับภาระหนี้สินกว่า 60,000 ล้านบาท โดย ร.ฟ.ท.จะส่งมอบพื้นที่ภายใน 2 ปี และจะมีการลงนามใน MOU ในวันที่ 1 ก.ค.2559 พร้อมกับการส่งมอบพื้นที่ส่วนแรก จำนวน 105 ไร่ ซึ่งเพิ่มจากที่กำหนดเดิมที่ 77 ไร่ โดยมีค่าใช้จ่ายในการรื้อย้ายทั้งหมดประมาณ 16,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท.ได้กำหนดพื้นที่ส่งมอบออกเป็น 7 พื้นที่ โดยพื้นที่ 1,2,3 (สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์) รวม 105 ไร่ จะส่งมอบทันทีในวันลงนาม MOU พื้นที่ 4,5 (อาคารคลังพัสดุ) ส่งมอบภายใน 1 ปี หลัง MOU (30 มิ.ย. 2560) พื้นที่ 6,7 (อาคารโรงงาน โรงพยาบาลบุรฉัตรไชยากรและนิคมรถไฟมักกะสัน) ส่งมอบในกรอบ 2 ปี (31 มี.ค. 2561)

ส่วนกรณีที่ ร.ฟ.ท.ต้องการให้คลังจ่ายเงินก้อนแรกให้เป็นค่าดำเนินการส่งมอบพื้นที่ 16,000 ล้านบาทนั้น ซึ่งคลังไม่สามารถจัดหาเงินให้ได้นั้น ล่าสุดหากคลังหักหนี้ให้ ร.ฟ.ท.ทั้งก้อนได้ ร.ฟ.ท.จะต้องหาเงินมาดำเนินการรื้อย้ายเอง

นอกจากนี้ คนร.ยังได้พิจารณาข้อเสนอของ ร.ฟ.ท.ที่ขอบริหารจัดการเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต,บางซื่อ-ตลิ่งชัน) เอง โดยจัดตั้งบริษัทลูกที่แยกบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินออกจาก ร.ฟ.ท. ซึ่งนายกรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการ โดยให้ร.ฟ.ท.ไปจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมให้ชัดเจนมากขึ้น พร้อมกับให้กระทรวงคมนาคมยืนยันเสนอกลับมาที่ คนร.อีกครั้งเพื่อพิจารณาแก้ไขมติ คนร.จากเดิมที่ให้เปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุน (PPP) ในการเดินรถไฟสายสีแดง

กรณีที่บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (แอร์พอร์ต เรล ลิงก์) ได้ทำหนังสือเสนอขอบริหารการเดินรถเอง และให้เอกชนร่วมลงทุนเฉพาะงานเดินรถในส่วนต่อขยายแอร์พอร์ตลิงก์นั้น คงเป็นไปไม่ได้ และกระทรวงคมนาคมเห็นว่าควรนำโครงการดังกล่าวเข้าวู่กระบวนการ PPP โดยส่วนต่อขยาย ช่วงพญาไท-บางซื่อ-ดอนเมือง รัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุนการก่อสร้างงานโยธาไปก่อน แต่หากในระยะต่อจากนี้คณะกรรมการ PPP มีมติให้เป็นการร่วมทุนเอกชนซึ่งควรจะครอบคลุมทั้งการก่อสร้างและเดินรถ ก็สามารถแปลงเงินที่รัฐลงทุนงานโยธาไปแล้วเป็นทุนในบริษัทร่วมทุนเอกชนได้ โดย คนร.รับทราบและยืนยันให้แอร์พอร์ตลิงก์เป็นการร่วมทุนเอกชน PPP ตามมติเดิมต่อไป โดย ร.ฟ.ท.จะต้องเร่งศึกษารายละเอียดการร่วมทุนและเสนอคณะกรรมการ PPP ต่อไป

พร้อมกันนั้น คนร.ยังเห็นชอบให้ทบทวนแผนจัดซื้อรถเมล์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จำนวน 3,183 คัน วงเงิน 13,162.20 ล้านบาทใหม่ เป็นการจัดซื้อรถเมล์ NGV จำนวน 489 คัน วงเงิน 1,735.461 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะปรับเป็นการจัดหารถเมล์ไฟฟ้า จำนวน 200 คัน (คันละ 10 ล้านบาท) วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท และค่าก่อสร้างสถานีประจุไฟฟ้า 268.22 ล้านบาท คิดเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 2,268.22 ล้านบาท รวมทั้งปรับปรุงสภาพรถเก่า 672 คัน แบ่งเป็นรถร้อน 500 คัน คันละ 889,000 บาท รวมวงเงิน 445.5 ล้านบาท รถปรับอากาศ 169 คัน คันละ 1.712 ล้านบาท วงเงิน 289.328 ล้านบาท ซึ่งโครงการทั้งหมดดังกล่าวคิดเป็นเงินลงทุนรวมลดลงจากที่ ครม.เคยอนุมัติไว้ที่ 13,162.20 ล้านบาท เหลือ 4,292 ล้านบาท จึงต้องเสนอ ครม.ของทบทวนมติต่อไป

สำหรับ บมจ.การบินไทย (THAI) นั้น ที่ประชุม คนร.รับทราบผลการดำเนินงาน ซึ่งฝ่ายบริหารแจ้งว่าจะกลับมามีกำไรสุทธิ 2 พันล้านบาทในปี 59 โดยประมาณการณ์รายได้ไว้ที่ 1.94 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 7% ขณะที่ตั้งเป้าลดค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีกำไรจาการดำเนินงานประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม รมว.คลัง ตั้งข้อสังเกตว่า การมีกำไรของการบินไทยในช่วงนี้นั้นปัจจัยหนึ่งมาจากราคาน้ำมันที่ลดลง จึงเห็นว่าการบินไทยควรหาประเด็นอื่นที่จะทำให้ได้ผลประกอบการดีขึ้นกว่านี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ