(เพิ่มเติม) SME Bank แจง Q1/59 กำไรต่อเนื่องจากปี 58 ตามการปล่อยสินเชื่อ - NPL ลดดีกว่าเป้า

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 21, 2016 13:15 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) หรือ ธพว. เปิดเผยผลการดำเนินงานไตรมาส 1/59 ว่า อยู่ในระดับที่น่าพอใจ โดยเดือนมี.ค.59 กำไรสุทธิที่ 195 ล้านบาท ซึ่งเป็นกำไรต่อเนื่องจากปี 58 ส่งผลให้ไตรมาสแรกปีนี้ธนาคารมีกำไรสุทธิรวม 537 ล้านบาท โดยมีการปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ผู้ประกอบการรายย่อยรวม 9,962 ล้านบาท จำนวน 3,405 ราย เฉลี่ยกู้ต่อราย 2.92 ล้านบาท ซึ่งการที่ธนาคารมีผลกำไรต่อเนื่องทำให้ขณะนี้มีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) เท่ากับ 14.34%

สำหรับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ณ สิ้นเดือนมี.ค.59 ลดลงมาอยู่ที่ 21,076 ล้านบาท คิดเป็น 23.78% ของสินเชื่อรวม ซึ่งทำได้ต่ำกว่าเป้าที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) กำหนดที่ 22,000 ล้านบาท ลดลง 2,376 ล้านบาท จากสิ้นปี 58 ที่มี NPL อยู่ที่ระดับ 23,452 ล้านบาท สาเหตุเพราะธนาคารสามารถขายลูกหนี้ให้กับบริษัท บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (BAM) จำนวน 1,057 ล้านบาท รวมทั้งการดูแลลูกหนี้ไม่ให้ตกชั้น และสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้

"NPL ณ สิ้นปีเราคาดว่าจะลดลงมาอยู่ที่ 18,000 ล้านบาท เชื่อว่าจะทำได้ ซึ่งเป้านี้เราเป็นคนนำเสนอ คนร.เอง และ คนร.ก็เห็นชอบ เราจะมีการขายลูกหนี้ในส่วนที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้แล้วออกไป มีการจัดตั้งศูนย์ควบคุมคุณภาพสินเชื่อกระจายไปในทุกสาขาของ ธพว.เพื่อดูแลไม่ให้ลูกค้าตกชั้น และดูแลปัญหา cash flow รวมทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ที่ยังดำเนินการต่อเนื่อง" ประธานกรรมการ ธพว.กล่าว

พร้อมเชื่อว่าเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อใหม่แก่ผู้ประกอบการ SMEs ไม่เกินรายละ 15 ล้านบาทนั้น จะสามารถทำได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ที่ 35,000 ล้านบาทในปีนี้

นางสาลินี กล่าวถึงการจะออกจากแผนฟื้นฟูกิจการว่าจะเป็นเมื่อใดนั้น คงต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของ คนร.เป็นสำคัญ แต่ทั้งนี้มั่นใจว่าธนาคารจะสามารถออกจากแผนฟื้นฟูฯ ได้อย่างแน่นอน เพราะการบริหารงานของธนาคารสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ทั้งเรื่อง NPL ที่คาดว่าจะลดลงมาเหลือ 18,000 ล้านบาทในช่วงสิ้นปี การปล่อยสินเชื่อใหม่ให้ผู้ประกอบการ 35,000 ล้านบาทในปีนี้ และการดำเนินการต่างๆ ที่ทำได้อย่างครบถ้วนตามการกำกับดูแลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

สำหรับการพัฒนาผู้ประกอบการนั้น ธนาคารได้ดำเนินการพัฒนาผู้ประกอบการต่อไปอย่างจริงจัง โดยในเดือนมี.ค.59 ได้เปิด Co-Working Space ที่สำนักงานใหญ่ SME Bank Tower เพื่อให้บริการแก่ผู้ประกอบการกลุ่ม Startup ซึ่งขณะนี้จะยกระดับขึ้นมาเป็นศูนย์ "Innovation Center" โดยร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยศูนย์นี้จะเน้นงานด้านวิศวกรรม และไอทีที่เป็นจุดเด่นของพระจอมเกล้าลาดกระบัง

ขณะเดียวกัน ยังได้ขยายความร่วมมือกับ บล.โนมูระ พัฒนสิน สนับสนุนส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการใหม่เชิงสร้างสรรค์นวัตกรรมกลุ่ม Startup จัดการแข่งขัน Contest นักศึกษาและประชาชนทั่วไป โดยใช้งบประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งจะเปิดดำเนินการรับสมัครกลุ่มเป้าหมาย Startup เข้าร่วมการแข่งขันตั้งแต่ปลายเดือนเม.ย.59 เป็นต้นไป

ประธานกรรมการ ธพว. กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการร่วมลงทุน (Venture Capital) ว่า ธนาคารได้อนุมัติแล้ว 3 ราย เป็นกิจการ SMEs ขนาดเล็ก เกี่ยวกับเกษตรแปรรูป และในเดือนเม.ย.นี้ ได้ร่วมลงทุนอีก 1 ราย คือ บริษัท หมิ๋ง คอปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตเครื่องดื่มซุปไก่สกัด ภายใต้แบรนด์ หมิ๋ง (Ming) ร่วมลงทุนประมาณ 10 ล้านบาท และในไตรมาส 2 ยังมีกิจการ SMEs ที่เตรียมพิจารณาเข้าร่วมลงทุนอีก 7 ราย เป็นธุรกิจด้านอาหาร, ด้านซอฟต์แวร์ และด้านโลจิสติกส์ โดยคาดว่าปี 2559 ธนาคารจะร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการในวงเงินประมาณ 700 ล้านบาท

สำหรับการสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs ที่เป็น Social Enterprise ในการพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการและชุมชนชาวบ้านบริเวณเขื่อนเชี่ยวหลาน จ.สุราษฏร์ธานี ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ที่ธนาคารจะให้การสนับสนุนด้านเงินทุนเพื่อปรับปรุงการให้บริการ พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวท้องถิ่นไปสู่การท่องเที่ยวในระดับโลก โดยเน้นใส่ความแตกต่าง พัฒนาให้ชาวบ้านเป็นผู้ประกอบการเชิงคุณภาพ ปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เกษตรอินทรีย์ รวมถึงการเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวจากอันดามันมาสู่เกาะสมุย อ่าวไทย เป็นการปรับปรุงบริหารจัดการชุมชนโดยรอบ ซึ่งมีธุรกิจแพพักรองรับนักท่องเที่ยว ธุรกิจโดยสารทางเรือ เป็นต้น รวมถึงสนับสนุนผู้ประกอบการกลุ่มสมาคมส่งเสริมท่องเที่ยวทะเลสาบเชี่ยวหลานด้วย เพื่อให้สามารถบริหารธุรกิจแบบยั่งยืน มีความปลอดภัยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นหัวใจหลักของธุรกิจท่องเที่ยว และเสริมสร้างรายได้ให้ชุมชน การสร้างอาชีพตามวิถีชีวิตของคนพื้นบ้าน และกำลังพิจารณาร่วมลงทุนในที่สุด

"เราจะเน้นการสนับสนุนให้แก่ SMEs ที่ต้องการขยายกิจการ โดยเน้นกิจการด้านการเกษตรเชิงท่องเที่ยว เชิงอนุรักษ์ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจะให้เกิด SMEs ภาคเกษตร" นางสาลินี กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ