นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และโฆษก กกพ. กล่าวว่า คณะกรรมการคัดเลือกประกาศผลการจับสลากโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) สำหรับหน่วยงานภาคการเกษตรในวันนี้ พบว่ามีผู้ผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 67 ราย กำลังการผลิตรวม 281.32 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น พื้นที่ภาคกลาง 25 ราย รวม 108.2 เมกะวัตต์ ,ภาคตะวันตก 18 ราย รวม 76 เมกะวัตต์ , ภาคตะวันออก 17 ราย รวม 70.47 เมกะวัตต์ ,ภาคเหนือ 1 ราย กำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ และพื้นที่การไฟฟ้านครหลวง 6 ราย รวม 21.65 เมกะวัตต์
สำหรับกำลังการผลิตที่ผ่านการคัดเลือกทั้งหมดในรอบนี้มีเพียง 281.2 เมกะวัตต์ จากที่จะรับซื้อทั้งหมด 300 เมกะวัตต์ ทำให้มีกำลังการผลิตคงเหลือซึ่งจะนำไปรวมกับการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ระยะที่ 2 เป็นจำนวนรวมกว่า 500 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น หน่วยงานราชการ 400 เมกะวัตต์ และส่วนที่เหลือกว่า 100 เมกะวัตต์เป็นของหน่วยงานสหกรณ์ภาคการเกษตร เบื้องต้นคาดว่าจะสามารถประกาศรับซื้อไฟฟ้าระยะที่ 2 ได้ในราวปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้า
หลังจากนี้สำนักงาน กกพ.จะนำรายชื่อผู้ที่ผ่านการคัดเลือกในวันนี้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ กกพ.นัดพิเศษในวันที่ 25 เม.ย.เพื่อประกาศรับรองผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 26 เม.ย.นี้ โดยผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าส่วนจำหน่ายภายใน 120 วัน และต้องก่อสร้างโรงไฟฟ้าและจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ภายในวันที่ 31 ธ.ค.59 โดยมีอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 25 ปี ในอัตราค่าไฟฟ้า FiT ที่ 5.66 บาท/หน่วย
ทั้งนี้ โครงการที่ได้รับการคัดเลือกจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงบริษัทผู้สนับสนุนโครงการได้ และภายใน 3 ปีสัดส่วนการถือหุ้นใหญ่ของผู้สนับสนุนโครงการจะต้องไม่ต่ำกว่า 50%
อนึ่ง กกพ.ออกประกาศและหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าโครงการโซลาร์ฟาร์มส่วนราชการฯไม่เกิน 800 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 2 ระยะ โดยระยะแรกจะรับซื้อจำนวน 600 เมกะวัตต์ ซึ่งมีผู้ผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมจับสลากในวันนี้จำนวน 167 ราย กำลังการผลิตรวม 798.62 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นกลุ่มสหกรณ์ภาคการเกษตรทั้งหมด ขณะที่กลุ่มข้าราชการถูกตัดสิทธิในรอบนี้ เพราะขัดหลักเกณฑ์พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) ทำให้การจับสลากระยะแรกจะคัดเลือกให้เหลือเพียง 300 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโควตาของกลุ่มสหกรณ์ภาคการเกษตรเท่านั้น
ส่วนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หลายแห่งได้ยื่นเป็นผู้สนับสนุนโครงการของกลุ่มสหกรณ์ภาคการเกษตร ยกตัวอย่างเช่น บมจ.บางจากปิโตรเลียม (BCP) ซึ่งในวันนี้สามารถจับสลากได้ 3 โครงการ รวม 12 เมกะวัตต์ ในจ.พระนครศรีอยุธยา และ จ.อ่างทอง
ขณะที่ บมจ.ไทย โซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE) จับสลากได้ 2 โครงการรวม 6 เมกะวัตต์ จากที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาทั้งหมด 3 โครงการ ,บมจ.โซลาร์ตรอน (SOLAR) จับสลากได้ 3 โครงการ รวม 9 เมกะวัตต์ จากที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามา 10 โครงการ รวม 50 เมกะวัตต์ ขณะที่ บมจ.กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) จับสลากได้ 1 โครงการ รวม 5 เมกะวัตต์ จากที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามา 2 โครงการ
บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) จับสลากได้กำลังผลิต 6 เมกะวัตต์, บมจ.ซุปเปอร์บล๊อก (SUPER) จับสลากได้ 4 โครงการ กำลังผลิตรวม 18 เมกะวัตต์, บมจ.สแกนอินเตอร์ (SCN) จับสลากได้ 1 โครงการร่วมกับสหกรณ์การเกษตรสตรีบางภาษี จำกัด กำลังผลิต 5 เมกะวัตต์, บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) จับสลากได้ 1 โครงการ ขนาด 5 เมกะวัตต์, บมจ.เพาเวอร์ โซลูชั่น เทคโนโลยี (PSTC) จับสลากได้ 2 โครงการ กำลังผลิต 10 เมกะวัตต์ ร่วมกับสหกรณ์ประมงแม่กลอง และ สหกรณ์การเกษตรสระแก้ว เป็นต้น