"การหารือครั้งนี้ ไทยได้ตอกย้ำความคืบหน้าการดำเนินการตาม Roadmap ของรัฐบาล เพื่อเน้นย้ำให้ภาคเอกชนสหรัฐฯ มั่นใจต่อเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของไทย นอกจากนี้ ยังหารือในประเด็นทางเศรษฐกิจยุคใหม่ที่มีความสนใจร่วมกัน อาทิ ทรัพย์สินทางปัญญา พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E-commerce) ธุรกิจการเงิน เพื่อรองรับการเป็นเศรษฐกิจดิจิตัลของไทยตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งสหรัฐฯ เห็นด้วยกับแนวทางปฏิรูปของไทย และชื่นชมการเข้าเป็นสมาชิกความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าของไทยภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) นับเป็นความก้าวหน้าของนโยบายไทยในการเร่งสร้างความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจในระดับสากล"รมว.พาณิชย์ กล่าว
ทั้งนี้ ภายหลังจากการหารือในระดับนโยบาย ทั้งสองฝ่ายได้มีการประชุมในระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสต่อเนื่อง โดยมีผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ (นายวินิจฉัย แจ่งแจ้ง) เป็นหัวหน้าคณะ โดยหารือเกี่ยวกับประเด็นที่จะเป็นประโยชน์ต่อการขยายการค้าการลงทุนของไทย โดยเฉพาะการขอให้สหรัฐฯ พิจารณาให้สิทธิ GSP แก่สินค้าหมวดเดินทาง และน้ำมะพร้าว ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่เป็นที่ต้องการและมีศักยภาพในตลาดสหรัฐฯ รวมทั้งความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาในการอบรมเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสิทธิบัตรของไทยเพื่อเร่งกระบวนการอนุมัติสิทธิบัตร ตลอดจนการจัดสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับกฎหมายความปลอดภัยทางอาหารฉบับใหม่ของสหรัฐฯ นอกจากนี้ ได้หารือเกี่ยวกับการเตรียมการจัดทำแผนปฏิบัติการด้านทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งจะเป็นเครื่องมือช่วยปลดล็อคไทยจากสถานะประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษในเรื่องการป้องกันและปราบปรามทรัพย์สินทางปัญญาในอนาคต
รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ไทยขอให้สหรัฐฯ สนับสนุนการถอดถอนไทยออกจากประเทศที่น่ากังวล (Primary Concern) เกี่ยวกับการควบคุมการค้างาช้างผิดกฎหมายในการประชุม CITES ครั้งต่อไปในเดือนกันยายน 2559 เนื่องจากไทยสามารถดำเนินการตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งชาติได้อย่างสมบูณ์
ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้คลายข้อกังวลเกี่ยวกับระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ ซึ่งจะลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ รวมทั้งส่งเสริมการดำเนินการของผู้ประกอบการบัตรเดรดิต ภายหลังการประชุมทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขอุปสรรคทางการค้าให้สำเร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็ว และให้มีการประชุมเต็มรูปแบบในลักษณะเดียวกันนี้ เมื่อการดำเนินงานของทั้งสองฝ่ายมีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ
ปัจจุบัน สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของไทย ทั้งสองฝ่ายมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 37,921.51 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับที่ 1 ของไทย โดยไทยส่งออกสินค้าไปสหรัฐฯ เป็นมูลค่า 24,057.92 ล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่สหรัฐฯ เป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 3 ของไทย เป็นมูลค่าทั้งสิ้น 13,863.59 ล้านเหรียญสหรัฐ