นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ คาดว่า กระทรวงพาณิชย์จะเสนอร่าง พ.ร.บ.การค้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาได้ในเดือน พ.ค.59 พร้อมเตรียมจัดทำและพัฒนากฎหมายลูกภายใต้ร่าง พ.ร.บ.ฯ ดังกล่าว ได้แก่ กฎกระทรวง ประกาศ และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการพิจารณาอนุญาตส่งออกสินค้าที่ไม่มีคุณสมบัติเป็นสินค้าที่ใช้ได้สองทาง (DUI) ให้มีหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข ที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทย ขณะเดียวกันต้องมีความรัดกุมและสามารถป้องกันการค้าของไทยไม่ให้ไปเกี่ยวข้องกับอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD) เพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและความสงบสุขของมนุษยชาติอย่างยั่งยืน
โดยเมื่อวันที่ 11 เม.ย.ที่ผ่านมา กรมการค้าต่างประเทศ ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น "Industry Hearing Outreach: ร่าง พ.ร.บ.การค้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง" เพื่อให้ผู้ประกอบการ ผู้ส่งออก ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความรู้ความเข้าใจต่อประเด็นสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และเตรียมความพร้อมให้สามารถปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง ไม่เป็นอุปสรรคทางการค้า ตลอดจนเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการยกร่าง พ.ร.บ.ฯ และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
การรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ครั้งนั้นมีผู้แทนทั้งของภาครัฐและเอกชน ตลอดจนสถาบันอุดมศึกษาที่เกี่ยวข้องให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงการต่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย รวมทั้งผู้ประกอบการ บริษัทส่งออกสินค้าที่เข้าข่ายเป็น DUI จากภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ และซอฟต์แวร์และเทคโนโลยี เป็นต้น โดยต่างร่วมแสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะซึ่งสามารถนำมาพิจารณาพัฒนาร่าง พ.ร.บ.ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
โดยเฉพาะประเด็นต่อไปนี้ (1) การเพิ่มนิยามผู้ขออนุญาตและผู้ดำเนินกิจกรรมที่ควบคุมเพื่อให้สาระประเด็นทางกฎหมายชัดเจนยิ่งขึ้น (2) การเพิ่มเลขาธิการ ปปง.เป็นองค์ประกอบคณะกรรมการบริหารสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ WMD เพื่อให้ระบบบริหารการส่งออกครอบคลุมประเด็นเกี่ยวกับธุรกรรมการเงินและบุคคลต้องห้าม และ (3) การปรับบทกำหนดโทษให้มีความเหมาะสมและครอบคลุมโทษในส่วนของการส่งผู้ร้ายข้ามแดน เป็นต้น โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าร่าง พ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้ต้องมีสาระสำคัญทางกฎหมายให้เป็นไปตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ 1540 (UNSCR 1540) ซึ่งกำหนดให้ประเทศสมาชิกรวมทั้งไทยต้องมีมาตรการภายในประเทศที่กำกับดูแลสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD) ที่อาจเป็นสินค้าที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ (ซอฟต์แวร์และเทคโนโลยี) โดยต้องกำกับดูแลให้ครอบคลุม 6 กิจกรรมหลัก ได้แก่ การส่งออก การนำเข้าเพื่อส่งออก การถ่ายลำ การผ่านแดน การเป็นคนกลาง และการดำเนินธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวกับ WMD
"ขณะนี้ ปปง.อยู่ระหว่างเสนอร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การทำให้แพร่กระจายซึ่งอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ให้ ครม.พิจารณาเช่นกัน ซึ่งหากร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับมีผลบังคับใช้ จะทำให้ไทยเป็นอีกประเทศหนึ่งในภูมิภาคนี้ที่มีกฎหมายในการกำกับดูแลสินค้าที่เกี่ยวข้องกับ WMD ที่มีประเด็นทางกฎหมายเป็นไปตามข้อมติฯ และเป็นที่ยอมรับจากประเทศคู่ค้า" นางดวงพร กล่าว