นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.การคลัง กล่าวภายหลังประชุมติดตามความคืบหน้าแนวทางการยกระดับการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานว่า มั่นใจมากว่าในปี 2559 ภายหลังการประเมินของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ไทยจะมีอันดับที่ดีขึ้นแน่นอน เนื่องจากที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ได้มีการปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่าง ๆ ที่เคยเป็นอุปสรรคในการทำธุรกิจให้มีความสะดวกมากขึ้น
"เราทำงานในส่วนนี้มาเกือบ 6 เดือน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการบูรณาการการทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับภาคเอกชนด้วย เริ่มจากการตั้งโจทย์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการทำงาน หลักคือทำอย่างไรให้การทำธุรกิจมีความสะดวกที่สุด โดยหลายระบบก็มีความเชื่อมโยงกับระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) ที่รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการอยู่ ซึ่งความก้าวหน้าในส่วนนี้มีเยอะมาก" นายอภิศักดิ์ กล่าว
รมว.คลัง กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้หวังแค่เพียงการขยับอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการแก้ไขปัญหาเพื่อให้เกิดความสะดวกในการทำธุรกิจในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง เนื่องจากมองว่าในระยะต่อไปภาคเอกชนจะเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คงจะหวังพึ่งรัฐบาลเหมือนที่ผ่านมาไม่ได้ เพราะรัฐบาลจะลดบทบาทลงมาเป็นผู้ดูแล ให้แก้ปัญหาเพื่อให้การทำธุรกิจในทุกส่วนมีความสะดวกมากขึ้น ซึ่งตรงนี้เชื่อว่าจะทำให้เอกชนทั้งในและต่างประเทศเริ่มให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น ซึ่งไทยเองจะได้เปรียบประเทศอื่นมากกว่า เพราะมีสภาพแวดล้อมที่ดี รวมถึงที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้เร่งดำเนินการด้านภาษี อาทิ ลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 20% ปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา น่าจะเป็นตัวสร้างแรงจูงใจในการลงทุนได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้นี้ในช่วงเดือน พ.ค.59 รัฐบาลมีแนวคิดที่จะจัดงานเพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจกับภาคเอกชนเกี่ยวกับความพยายามในการยกระดับขีดความสามารถในการทำธุรกิจของประเทศไทย โดยส่วนราชการทั้งหมดที่เกี่ยวข้องจะต้องทำหน้าที่ในการชี้แจงรายละเอียดทั้งหมดที่ได้ดำเนินการในเรื่องนี้
นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้มีการติดตามความคืบหน้าเกี่ยวกับแนวทางการยกระดับความสะดวกในการทำธุรกิจ โดยเริ่มตั้งแต่การเริ่มต้นธุรกิจ และภายใน 30 ก.ย. นี้ จะมีการเชื่อมโยงระบบการขออนุญาตการก่อสร้าง ระบบไฟฟ้า และประปาด้วย ขณะที่ระบบการเสียภาษี ก็จะมีการลิ้งค์ข้อมูลของเวปไซด์กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกระทรวงการคลัง เพื่อให้เกิดความสะดวกในการยื่นภาษี และภายในสิ้นปีนี้จะรวมเวปไซด์ของกรมศุลกากรด้วย
ส่วนระบบการจ่ายเงินของลูกจ้างของสำนักงานประกันสังคมนั้น คาดว่าภายในเดือน มิ.ย.นี้จะสามารถรวมไว้ที่จุดเดียวผ่านระบบออนไลน์ และให้มีการส่งเอกสารไปยังธนาคารก่อนมีการส่งต่อไปยังสำนักงานประกันสังคมอย่างเป็นระบบมากขึ้น ขณะที่การนำเข้า-ส่งออกสินค้า ที่ผ่านมากรมศุลกากรได้พยายามแก้ปัญหาเพื่อลดระยะเวลาการดำเนินงาน ซึ่งจะทำให้ส่วนนี้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ส่วนการปิดกิจการนั้นที่ผ่านมากรมบังคับคดีได้มีการปรับปรุงกฎหมายล้มละลาย เพื่อให้การดำเนินงานในส่วนนี้เป็นสัดส่วนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
ขณะที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี มั่นใจว่า ความพยายามในการยกระดับการจัดอันดับความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) ของไทยในปีนี้ และปีหน้าจะดีขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความพยายามในการแก้ไขประเด็นปัญหาทั้ง 10 ประเด็นเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวที่ธนาคารโลกได้กำหนดไว้ โดยบางประเด็นมีความคืบหน้าไปแล้ว 8-9 คะแนน จากเต็ม 10 คะแนน และมีบางประเด็นคืบหน้าไป 7-8 คะแนน
"ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เอาข้อมูลและข้อสรุปทั้งหมดให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พิจารณา เพื่อใช้หารือกับทางเวิลด์แบงก์ และให้มีการนำข้อมูลลงเว็ปไซด์เพื่อเปิดให้เอกชนที่สนใจเข้ามาติดตามรายละเอียดได้" นายสมคิด กล่าว
ทั้งนี้ ทางเวิลด์แบงก์ได้มีการติดตามแนวทางการพัฒนาและปฏิรูประบบต่าง ๆ ของประเทศไทยอย่างใกล้ชิด ซึ่งได้มีการชี้แจงเพื่อให้รับทราบรายละเอียดว่า ที่ผ่านมารัฐบาลพยายามสร้างความยั่งยืนและพัฒนาประเทศ ควบคู่ไปกับการสร้างความเติบโต และยกระดับภาคเกษตร รวมไปถึงความพยายามในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ด้วยการแก้ไขกฎหมายต่าง ๆ เพื่อให้มีการดำเนินธุรกิจได้อย่างสะดวกยิ่งขึ้น
โดยส่วนตัวมองว่า เวิลด์แบงก์มีความพอใจเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาและปฏิรูประบบต่าง ๆ ของไทย และต้องการให้ไทยมีการดำเนินงานในส่วนนี้อย่างต่อเนื่องและใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยเวิลด์แบงก์ไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องการขยายตัวของตัวเลขเศรษฐกิจ (จีดีพี) มากนัก แต่กลับมองไปที่การพัฒนาประเทศว่ามีทิศทางเป็นอย่างไรมากกว่า
สำหรับความพยายามในการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ไอยูยู) ในช่วง 1 ปีครึ่งที่ผ่านมานั้น นายสมคิด เชื่อว่าความพยายามของไทยน่าจะเข้าใกล้จุดที่จะได้รับการอภัยแล้ว หลังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามในการแก้ไขปัญหา ขณะที่ภาคเอกชนเองควรต้องลดความเห็นแก่ตัวลงบ้าง อะไรที่ไม่ถูกต้องก็อย่าไปทำ