นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า หากมีปริมาณฝนเป็นไปตามพยากรณ์อากาศที่จะเริ่มมีฝนตกหนักตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย.หลังจากนั้นก็อาจมีฝนต่อเนื่อง เพราะก้าวสู่ฤดูฝน ก็จะส่งผลดีต่อปัญหาภัยแล้ง น้ำในเขื่อนจะพ้นวิกฤติได้ เพราะ ในขณะนี้ น้ำในเขื่อนใหญ่ เช่น เขื่อมภูมิพลมีปริมาตรน้ำ 4,266 ล้านลูกบาศ์กเมตร ใช้งานได้จริงเพียงร้อยละ 3 เขื่อนสิริกิติ์มีปริมาตรน้ำ 3,829 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้งานได้จริง ร้อยละ 10 ซึ่งหากมีน้ำไหลเข้าเขื่อน ก็จะมีการกักเก็บไว้ใช้ได้ในแล้งต่อไป ส่วนการจะปล่อยน้ำหรือไม่นั้นก็ขึ้นอยู่กับข้อเสนอของกรมชลประทานเป็นหลัก หากปล่อยน้ำในแง่ผลดีต่อการผลิตไฟฟ้าก็จะทำให้ต้นทุนการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าต่ำ เพราะต้นทุนจากน้ำต่ำที่สุด
นายสุนชัย กล่าวว่า แม้ว่าหากมีฝนตกจะช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งและความร้อนได้ แต่ กฟผ. ก็ยังคาดว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือ พีกอาจเกิดขึ้นได้ อีก ใน เดือน พ.ค. เพราะปกติแล้ว พีกจะเกิดได้ตั้งแต่เม.ย.-พ.ค. หลังจากปีนี้เกิด รอบที่ 2 แล้ว เมื่อวันที่ 19 เม.ย. เวลา 14.17 น. ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือ พีค (Peak) อยู่ที่ 28,351.7 เมกะวัตต์ ทำลายตัวเลขการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในปีนี้เป็นครั้งที่ 2 จากพีคครั้งแรก เมื่อวันที่ 6 เม.ย. ซึ่งมีการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 27,639.3 เมกะวัตต์ โดย กฟผ.จะยังไม่มีการปรับลดตัวเลขการคาดการณ์การใช้ไฟฟ้าในแผนพัฒนากำลังไฟฟ้าฉบับปี 2015 (พีดีพี 2015 ) เนื่องจากจะเห็นได้ว่า พีกที่เกิดขึ้น ใกล้เคียงกับ ที่ กฟผ.คาดไว้ คือปีนี้อยู่ที่ 28,500 เมกะวัตต์
ส่วนสำรองไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น สูง เนื่องจากมีการรวมเรื่องพลังงานทดแทนเข้าระบบ ในขณะที่พลังงานทดแทนนั้น ยังไม่สามารถเดินเครื่องได้ตลอดเวลา ต้องมีเชื้อเพลิงหลักสนับสนุน เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านพลังาน
ส่วนค่าไฟฟ้าในปีนี้ นายสุนชัยกล่าวว่า กฟผ.เห็นสอดคล้องกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ค่าไฟฟ้าไม่มีแนวโน้มปรับขึ้นอีก เนื่องจาก ต้นทุนก๊าซธรรมชาติได้อานิสงส์ จากราคาน้ำมันที่ต่ำลง อย่างไรก็ตาม พลังงานทดแทนที่เพิ่มขึ้น แม้เป็นผลดีต่อการลดภาวะโลกร้อน แต่ก็ต้องมีเงินอุดหนุนต่อเนื่อง โดยเงินอุดหนุนอยู่ในค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ เอฟที ที่คาดว่าปีนี้จะต้องอุดหนุนสูงถึง 17 สตางค์ต่อหน่วย