ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 59 จะเติบโต 2.5% เผชิญอุปสรรคในด้านการส่งออกสินค้าของไทยที่มีโอกาสหดตัวต่อเนื่องจากปีที่แล้วอีก 2.1% โดยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มฟื้นตัวได้ช้ากว่าที่คาดไว้เดิม โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังเปราะบาง รวมถึงนโยบายการเงินของยูโรโซนและญี่ปุ่นยังขาดประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าของไทยยังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของจีนที่ทำให้ภาคอุตสาหกรรมในประเทศชะลอตัวลงต่อเนื่องและลดการนำเข้าวัตถุดิบต่างๆ
ความเสี่ยงจากการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศพัฒนาแล้วสูงขึ้น การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังไม่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมตอนต้นปีและมีแนวโน้มจะปรับขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปมากขึ้นมีผลกระทบอย่างมากกับตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา โดยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายติดลบของธนาคารกลางยุโรปและธนาคารกลางญี่ปุ่นไม่ได้ให้ผลตามที่คาดหวังไว้ ค่าเงินยูโรและค่าเงินเยนกลับแข็งค่าขึ้นกว่าเดิมซึ่งไม่เป็นผลดีต่อภาวะเงินฝืดที่เป็นปัญหาใหญ่อยู่ในขณะนี้ และยังทำให้มีเงินทุนไหลกลับเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่ รวมทั้งไทยในระยะสั้น
อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป ได้แก่ การเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ น่าจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้น รวมทั้งทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับต่ำมากในปัจจุบัน ในส่วนของไทย คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.5% และค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าเช่นเดียวกับเงินสกุลอื่นในภูมิภาคไปอยู่ที่ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงปลายปี 59
แรงกดดันต่อเศรษฐกิจไทยจากการที่เศรษฐกิจชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเวลานานมีเพิ่มขึ้น การใช้จ่ายของครัวเรือนมีแนวโน้มซบเซาจากการที่รายได้ของครัวเรือนได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเวลานาน ถึงแม้ตัวเลขการว่างงานโดยรวมยังไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แต่ชั่วโมงการทำงานของแรงงานในหลายภาคส่วนเริ่มลดลง นอกเหนือจากการจ้างงานที่ลดลงแล้ว รายได้ภาคครัวเรือนยังได้รับผลกระทบจากรายได้ภาคเกษตรที่ตกต่ำจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังไม่ฟื้นตัวและจากภัยแล้งที่จะกระทบปริมาณผลผลิต อีไอซีเห็นว่าความเสี่ยงด้านรายได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การบริโภคในประเทศฟื้นตัวได้ยาก
อย่างไรก็ตาม ต้องจับตาการลงทุนของภาครัฐในครึ่งปีหลัง นโยบายการคลังโดยเฉพาะการเร่งเบิกจ่ายในโครงการลงทุนขนาดเล็กและมาตรการสนับสนุนทางการเงินในภูมิภาคมีบทบาทอย่างมากในการช่วยพยุงเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา ในระยะต่อไปต้องจับตาดูการดำเนินการของโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่ผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีไปแล้ว โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล และมอเตอร์เวย์ ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญในการเรียกความเชื่อมั่นและดึงดูดการลงทุนจากภาคเอกชนต่อไป