ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ยังคงตัวเลขคาดการณ์การส่งออกของไทยในปี 59 ไว้ที่ 0% ตามเดิม (โดยมีกรอบคาดการณ์ในช่วง -2.0% ถึง +2.0%) แม้การส่งออกในไตรมาส 1/2559 ที่พลิกกลับมาขยายตัวได้เหนือความคาดหมายที่ 0.9% (YoY) [จากเดิมที่คาดว่าอาจจะยังอยู่ในแดนหดตัว] จะช่วยลดโอกาสความเป็นไปได้ที่ตัวเลขการส่งออกของไทยทั้งปี 59 จะหดตัวติดต่อกันเป็นปีที่ 4 ลง เนื่องจากประเมินว่าการฟื้นตัวของสินค้าส่งออกสำคัญของไทยอาจจะยังคงเป็นไปในกรอบจำกัดในช่วงหลายเดือนข้างหน้า เนื่องจากราคาสินค้าส่งออกที่ยังอยู่ต่ำกว่าปีก่อน เศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว และข้อจำกัดในการตอบโจทย์ความต้องการตลาดโลกของสินค้ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์
ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์แถลงตัวเลขส่งออกเดือนมี.ค. 59 เพิ่มขึ้น 1.3% (YoY) จากช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากที่ขยายตัว 10.3% (YoY) ในเดือนก.พ. 2559 ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกสินค้าของไทยในไตรมาส 1/2559 ขยายตัว 0.9% (YoY) ซึ่งนับเป็นการขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาสที่ผ่านมา โดยแรงหนุนสำคัญที่ผลักดันให้การส่งออกของไทยให้หลุดพ้นจากภาวะหดตัว คือ มูลค่าการส่งออกทองคำและรถยนต์นั่ง ที่ขยายตัวสูงถึง 234.8% (YoY) และ 88.0% (YoY) ในไตรมาสแรกของปี ตามลำดับ อย่างไรก็ดี หากหักการส่งออกทองคำออกแล้ว ภาพรวมการส่งออกของไทยในไตรมาส 1/2559 ยังคงหดตัวลง 2.7% (YoY) ซึ่งสะท้อนว่า สัญญาณการฟื้นตัวของภาคการส่งออก ยังคงไม่กระจายครอบคลุมออกไปยังสินค้าส่งออกตัวสำคัญอื่นๆ ของไทย
"หากไม่นับรวมการส่งออกทองคำ แล้ว คงต้องยอมรับว่า ยังมีสินค้าส่งออกเพียงไม่กี่รายการ ที่อาจจะสามารถประคองสัญญาณการขยายตัวไว้ได้ในช่วงเวลาที่เหลือของปี เช่น รถยนต์นั่ง ซึ่งทำราคาได้สูงขึ้นและขยายตัวได้ดีในตลาดออสเตรเลีย ตลอดจนบางประเทศในตะวันออกกลาง และอาเซียน ข้าว ซึ่งน่าจะได้รับอานิสงส์จากความต้องการในตลาดจีนและอาเซียนเดิม 5 ประเทศ และเครื่องจักรกล/ส่วนประกอบ ในตลาดอาเซียน" เอกสารศูนย์วิจัย ระบุ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สัญญาณบวกดังกล่าวอาจจะยังไม่เพียงพอที่จะชดเชยกับแรงฉุดของสินค้าส่งออกรายการสำคัญอื่นๆ ที่แนวโน้มการฟื้นตัวยังไม่มีความชัดเจน โดยภาวะอุปสงค์ทั่วโลกที่ยังชะลอตัว ราคาน้ำมันตลาดโลกที่เคลื่อนไหวอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน และปัญหาด้านโครงสร้างของภาคการผลิตในประเทศ ล้วนเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของสินค้าส่งออกในกลุ่มที่เชื่อมโยงกับราคาน้ำมัน (น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ยางพารา ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันประมาณ 10% ของการส่งออกรวม) สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (สัดส่วนกว่า 14% ของการส่งออกรวม) และเครื่องใช้ไฟฟ้า (สัดส่วนเกือบ 10% ของการส่งออกรวม)
ขณะที่ตลาดส่งออกหลักที่ยังอาจจะหดตัวต่อเนื่องในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า น่าจะเป็นจีน (โดยเฉพาะเม็ดพลาสติก มันสำปะหลัง เคมีภัณฑ์ คอมพิวเตอร์/อุปกรณ์/ส่วนประกอบ) เพราะแม้สัญญาณเศรษฐกิจจีนจะเริ่มนิ่งมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจีนจะหลุดพ้นจากภาวะการชะลอตัว ขณะที่ การส่งออกไปญี่ปุ่น โดยเฉพาะอุปกรณ์/ส่วนประกอบรถยนต์ อาจชะลอลงตามการหยุดสายการผลิตของโรงงานในญี่ปุ่น ส่วนการส่งออกไปยังกลุ่ม CLMV น่าจะยังถูกฉุดลงจากการหดตัวของสินค้าในกลุ่มน้ำมันสำเร็จรูปเป็นหลัก