นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวภายหลังประชุมร่วมกับผู้แทนองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-รัฐบาลญี่ปุ่นในการพัฒนาระบบรางว่า ไจก้าได้รายงานความคืบหน้าการศึกษาสำรวจเส้นทางรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 672 กม. โดยจะสรุปผลการศึกษาและสำรวจเบื้องต้นในเดือน มิ.ย.นี้ เช่น คาดการณ์จำนวนผู้โดยสาร ต้นทุนโครงการ ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ และรูปแบบการลงทุน ส่วนการศึกษาฉบับสมบูรณ์จะเสร็จเรียบร้อยในเดือน ธ.ค.นี้ ซึ่งจะทำให้ทราบว่าโครงการมีความคุ้มค่าหรือไม่ จากนั้นจะเริ่มการออกแบบรายละเอียดในปี 2560
ทั้งนี้เพื่อความเป็นไปได้ การก่อสร้างที่เหมาะสมจะแบ่งเป็นเฟส เนื่องจากลงทุนรถไฟความเร็วสูงใช้เงินลงทุนสูงมาก โดยอาจจะแบ่งเฟสการก่อสร้าง โดยเฟสแรกเริ่มจาก กรุงเทพฯ-พระนครศรีอยุธยา หรือกรุงเทพฯ-ลพบุรี หรือกรุงเทพฯ-นครสวรรค์ เป็นต้น โดยจะต้องประเมินค่าก่อสร้าง ความเป็นไปได้ในการลงทุน ร่วมกันการพัฒนาเมือง การพัฒนาเชิงพาณิชย์ เป็นต้น
ส่วนรูปแบบการลงทุนนั้นจะพิจารณาทั้งรูปแบบรัฐลงทุน 100% หรือลงทุนก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) งานเดินรถ ส่วนทางญี่ปุ่นจะเข้ามาร่วมทุนด้วยหรือไม่หรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่มีการพูดถึง ส่วนการเปิดให้เอกชนลงทุนทั้งหมดค่อนข้างยาก
อย่างไรก็ตาม ตนเองได้นำข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สองข้างทางรถไฟ และสถานี ซึ่งเป็นที่ดินรถไฟสามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้ โดยจะปรับรูปแบบจากเดิมที่ให้สิทธิ์ในการเช่าในราคาถูกไปสร้างตึกแถว เป็นการให้สิทธิ์ในการพัฒนาเพราะจะสร้างมูลค่าได้สูงกว่า โดยสามารถพัฒนาเป็นศูนย์การค้า หรือศูนย์ด้านโลจิสติกส์ได้ ซึ่งทางญี่ปุ่นจะศึกษาการพัฒนาเมืองตลอดเส้นทาง เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับโครงการและเพิ่มจำนวนผู้โดยสารอีกด้วย