ผู้ว่า ธปท.ระบุเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นคาดครึ่งปีหลังดีขึ้น ย้ำทิศทางดอกเบี้ยไม่จำเป็นต้องเดินตามตลาดโลก

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 28, 2016 16:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจของประเทศเริ่มฟื้นตัวจากการเติบโตของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) การฟื้นตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และช่วงครึ่งหลังของปีนี้จะมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐมากขึ้นจะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวดีขึ้นกว่านี้

สิ่งที่ต้องจับตาดูต่อไป 3 ประการ คือ 1.ประสิทธิผลของนโยบายการเงิน ซึ่งการจะปรับลดดอกเบี้ยในภาวะที่มีสภาพคล่องส่วนเกินในระบบเป็นจำนวนมากคงไม่ได้มีประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้น 2.ความอ่อนไหวด้านเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาว และจับตาดูพฤติกรรมแสดงหาผลตอบแทน 3.ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก

"ถ้าเราจะใช้นโยบายการเงินจนหมดหน้าตัก ในโลกที่ไม่มีความแน่นอนเยอะมาก ทั้งภัยพิบัติ โรคระบาด ภัยธรรมชาติ การเก็บกระสุนไว้บ้างก็มีความจำเป็น" นายวิรไท กล่าวให้สัมภาษณ์ทางสถานีโทรทัศน์

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า คงไม่มีใครสามารถไปคาดเดาเรื่องอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนในอนาคตได้ถูกต้องทั้งหมด แต่อัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันถือว่าอยู่ในระดับที่ต่ำเป็นประวัติการณ์ เหมาะแก่การลงทุนปรับเปลี่ยนการผลิตที่มีต้นทุนต่ำ ซึ่งเป็นการลงทุนในระยะยาว ดังนั้นการพิจารณาเรื่องนโยบายอัตราดอกเบี้ยจะต้องดูเรื่องผลกระทบข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นด้วย

สิ่งสำคัญคือการดูแลเรื่องการบริหารความเสี่ยง ในส่วนของ ธปท.จะดูแลเรื่องความผันผวนของค่าเงินไม่ให้ส่งผลกระทบและเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ขณะนี้เมื่อเปรียบเทียบค่าเงินบาทกับภูมิภาคแล้วจะอยู่ในระดับกลางๆ ถึงอ่อนค่า ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สอดคล้องกับภูมิภาค เนื่องจากขณะนี้ทั่วโลกเกิดปัญหากำลังการผลิตส่วนเกินทำให้ไม่มีกระแสการลงทุนล็อตใหญ่เข้ามา สภาพคล่องส่วนเกินทำให้เกิดการโยกย้ายไปลงทุนในภูมิภาคที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า

ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า การกำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่จำเป็นต้องเดินตามทิศทางของตลาดโลก เพราะเป็นเครื่องมือที่แต่ละประเทศจะนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาของตนเองและมีขีดจำกัด ดังนั้นนโยบายที่ควรให้ความสำคัญมากกว่าคือการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและนโยบายด้านการคลังที่จะช่วยให้เกิดการฟื้นตัวอย่างยั่งยืน เพราะสภาวะการเงินในขณะนี้ไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเนื่องจากมีสภาพคล่องส่วนเกินเป็นจำนวนมาก

"ถ้าเราไปหวังพึ่งนโยบายการเงินมากๆ แล้วทำโดยไม่มีขีดจำกัด อัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบมากขึ้นเรื่อยๆ ธนาคารกลางเองอาจเป็นคนทำให้เกิดปัญหาฟองสบู่ เกิดความเปราะบางในระยะยาวได้" นายวิรไท กล่าว

นายวิรไท กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ของประเทศไทยขณะนี้ถือว่ามีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เนื่องจากมีกันชนที่ดีในเรื่องทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับที่สูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นถึง 3 เท่า ทำให้ภาวะเศรษบกิจในประเทศไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกเหมือนประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่

ขณะที่การพึ่งพิงเงินตราต่างประเทศทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งจะเห็นได้จากการออกพันธบัตรของรัฐบาล และพันธบัตร ธปท.จะมีต่างชาติถือครองอยู่เพียง 8-9% ขณะที่พันธบัตรของประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศมีสัดส่วนต่างชาติถือครองสูงถึง 30-40% ดังนั้นเมื่อมีข่าวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในต่างประเทศ เช่น การปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ ประเทศเหล่านั้นจะได้รับผลเรื่องเงินทุนไหลเข้าและไหลออกรุนแรงกว่า

ขณะเดียวกันบทบาทการลงทุนในตลาดหุ้นของนักลงทุนจากต่างประเทศในปัจจุบันลดลงเหลือ 27-30% จากในอดีตเมื่อ 3-4 ปีก่อนที่มีสัดส่วนราว 35-37% เมื่อ 3-4 ปีก่อน

ดังนั้น คงไม่ต้องกังวลจะเกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้งเหมือนในอดีต เพราะเสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยในขณะนี้ดีมาก ไม่มีการกู้เงินจากต่างประเทศเข้ามาใช้ในประเทศเหมือนในอดีต การก่อหนี้ต่างประเทศของภาคเอกชนเป็นการนำไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อสร้างรายได้เข้ามา

นอกจากนี้ยังมีตัวเลขการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในปีที่แล้วเกือบ 9% หรือราว 3.4-3.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าปีนี้จะมีตัวเลขเกินดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง โดยได้รับอานิสงน์จากราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง ขณะที่การลงทุนจากต่างประเทศชะลอตัว ทำให้การนำเข้าสินค้าทุนอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำเกินกว่าที่ควร

ส่วนการนำระบบชำระเงินทางอิเลคทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) มาใช้นั้น นายวิรไท กล่าวว่า จะช่วยลดต้นทุนการบริหารเงินสดของระบบการเงินไทยให้ถูกลง เช่น ตู้เอทีเอ็มที่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายราวปีละ 1.5-1.7 หมื่นล้านบาท และความปลอดภัย ซึ่งขณะนี้หน่วยงานภาครัฐอยู่ระหว่างทยอยดำเนินการ แต่ต้องอาศัยเวลาในการเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน

ผุ้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างกฎหมายเกี่ยวกับระบบการชำระเงินใหม่ จากเดิมที่ต้องอาศัยกฎหมายหลายฉบับซึ่งมีช่องโหว่มาก ซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอเข้าวาระการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ