นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2559 (ต.ค.58-มี.ค.59) รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 1,059,175 ล้านบาท ขณะที่การเบิกจ่ายเงินงบประมาณมีจำนวนทั้งสิ้น 1,570,876 ล้านบาท รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 313,023 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 มีจำนวนทั้งสิ้น 203,218 ล้านบาท
โฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2559 การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐมียอดกว่า 1.5 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนที่เบิกจ่ายได้สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนอันเนื่องมาจากความพยายามในการเร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐบาล และส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเบิกจ่ายตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงต้นปีงบประมาณ ซึ่งส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมา และคาดว่าการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในช่วงที่เหลือของปีงบประมาณจะช่วยกระตุ้นให้ภาคเอกชนเกิดความมั่นใจและส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง
โดยฐานะการคลังในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 1,059,175 ล้านบาท สูงกว่า ช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 83,686 ล้านบาท หรือคิดเป็น 8.6% ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 และ 1800 MHz (4G) การจัดเก็บภาษีน้ำมันที่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และการนำส่งเงินสภาพคล่องส่วนเกินของกองทุนหมุนเวียน
ขณะที่การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาลมีจำนวนทั้งสิ้น 1,570,876 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 109,157 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7.5% ประกอบด้วย รายจ่ายปีปัจจุบัน 1,411,849 ล้านบาท หรือคิดเป็น 50.9% ของวงเงินงบประมาณหลังโอนเปลี่ยนแปลง สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 6.6% และรายจ่ายจากงบประมาณปีก่อน 159,027 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 15.5%
รายจ่ายปัจจุบันจำนวน 1,411,849 ล้านบาท ประกอบด้วย รายจ่ายประจำ 1,248,659 ล้านบาท หรือคิดเป็น 55.1% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำหลังโอนเปลี่ยนแปลง 2,265,111 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 3.5% และรายจ่ายลงทุน 163,190 ล้านบาท หรือคิดเป็น 31.9% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนหลังโอนเปลี่ยนแปลง 510,889 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 38.3%
ดุลการคลังรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด ขาดดุล 535,987 ล้านบาท โดยเป็นการขาดดุลเงินงบประมาณ 511,701 ล้านบาท และขาดดุลเงินนอกงบประมาณจำนวน 24,286 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการจ่ายเงินให้กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการจากกรณี Undo 16,056 ล้านบาท ทั้งนี้ รัฐบาลได้บริหารเงินสดให้สอดคล้องกับความต้องการใช้เงิน โดยชดเชยการขาดดุลด้วยการกู้เงินจำนวน 313,023 ล้านบาท ส่งผลให้ดุลเงินสด (หลังการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล) ขาดดุลเท่ากับ 222,964 ล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 มีจำนวนทั้งสิ้น 203,218 ล้านบาท
ส่วนที่ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดประจำเดือนมี.ค.59 รัฐบาลขาดดุลเงินสดจำนวน 62,879 ล้านบาท โดยเป็นการขาดดุลเงินงบประมาณ 77,815 ล้านบาท ขณะที่ดุลเงินนอกงบประมาณเกินดุล 14,936 ล้านบาท ส่งผลให้ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2559 รัฐบาลขาดดุลเงินสดจำนวน 535,987 ล้านบาท ทั้งนี้รัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลจำนวน 313,023 ล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2559 มีจำนวน 203,218 ล้านบาท
โดยในเดือนมี.ค.59 รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลัง 181,636 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 7,975 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.6% ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการนำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz (4G) ขณะที่รัฐบาลมีการเบิกจ่ายเงินงบประมาณทั้งสิ้น 259,451 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 7,998 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.2% โดยมีการเบิกจ่ายรายจ่ายปีปัจจุบันจำนวน 224,575 ล้านบาท ต่ำกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 1.7% ประกอบด้วย รายจ่ายประจำ 179,352 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 45,223 ล้านบาท และมีการเบิกจ่ายเงินจากงบประมาณปีก่อนจำนวน 34,876 ล้านบาท สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้ว 51.1% การเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่สำคัญในเดือนนี้ ได้แก่ เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 12,465 ล้านบาท เงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 10,403 ล้านบาท และงบรายจ่ายอื่นกระทรวงกลาโหม 9,821 ล้านบาท
ดุลการคลังรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดจากรายได้นำส่งคลังและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณของรัฐบาล ส่งผลให้ดุลเงินงบประมาณในเดือนมี.ค.59 ขาดดุล 77,815 ล้านบาท เมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุล 14,936 ล้านบาท ซึ่งมีสาเหตุหลักจากรายจ่ายเหลื่อมไปเดือนเม.ย.59 จำนวน 6,711 ล้านบาท และเงินฝากคลังของส่วนราชการสุทธิ 6,300 ล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสด 62,879 ล้านบาท