เนื่องในวันที่ 1 พ.ค. เป็นวันแรงงานแห่งชาติ “กรุงเทพโพลล์" ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “ผ่าน 3 ปี นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ชีวิตแรงงานวันนี้เป็นอย่างไร" ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 73.6 ไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะที่ร้อยละ 26.4 มีภูมิลำเนาอยู่
ทั้งนี้เมื่อถามถึงสาเหตุที่ผู้ใช้แรงงานไม่ทำงานในภูมิลำเนาที่เกิดพบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 63.3 ระบุว่ามีงานให้เลือกน้อย รองลงมาร้อยละ 31.3 ระบุว่า ในกทม. และปริมณฑลมีสวัสดิการดีกว่า และร้อยละ 29.7 ระบุว่า มีการเปิดรับคนเข้าทำงานน้อยกว่า
สำหรับความกังวล กับสถานการณ์การแย่งงานจากแรงงานต่างด้าว หลังเปิดประชาคมอาเซียนในปีนี้พบว่า ส่วนใหญ่ร้อยละ 65.7 ไม่กังวล เพราะแรงงานไทยมีทักษะฝีมือที่ดีกว่า ขณะที่ร้อยละ 34.3 กังวล เพราะแรงงานต่างด้าวสู้งาน และอดทนทำงานได้ดีกว่า
เมื่อถามความเห็นว่า หลังจากไม่มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเลยเป็นระยะเวลา 3 ปี ควรมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำหรือไม่ ส่วนใหญ่ร้อยละ 89.3 เห็นว่าควรขึ้น โดยในจำนวนนี้ร้อยละ 79.6 อยากให้ขึ้นทั่วประเทศ ส่วนร้อยละ 9.7 อยากให้ขึ้นเฉพาะบางพื้นที่ เช่น พื้นที่เศรษฐกิจ กรุงเทพฯ ปริมณฑล ขณะที่ร้อยละ 10.7 เห็นว่าไม่ควรขึ้นเพราะเศรษฐกิจยังไม่ดี จะทำให้ข้าวของแพงขึ้นค่าครองชีพสูงขึ้น
เมื่อถามต่อว่า กังวลมากน้อยเพียงใดต่อความเสี่ยงที่จะตกงาน หากมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมากกว่า 300 บาท ส่วนใหญ่ร้อยละ 67.0 กังวลค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด ขณะที่ร้อยละ 33.0 กังวลค่อนข้างมากถึงมากที่สุด
สุดท้ายเมื่อถามว่าหลังจากได้รับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ชีวิตความเป็นอยู่ในปัจจุบันเป็นอย่างไร ส่วนใหญ่ร้อยละ 50.5 มีชีวิตความเป็นอยู่เหมือนเดิม (เพิ่มขึ้นจากผลสำรวจปี 2556 ร้อยละ 4.6) ขณะที่ร้อยละ 30.6 มีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น (ลดลงร้อยละ 13.6) ส่วนร้อยละ 18.9 มีชีวิตความเป็นอยู่แย่ลง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0)
กรุงเทพโพลล์ สำรวจความคิดเห็นโดยเก็บข้อมูลจากแรงงานที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,127 คน เมื่อวันที่ 25-28 เม.ย. ที่ผ่านมา