นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกร. มีความเห็นว่าภาวะเศรษฐกิจโลกโดยรวมยังคงมีความเปราะบาง แต่ก็เริ่มที่จะมีสัญญาณเชิงบวกบ้าง สะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจจีนที่ดูเหมือนจะเริ่มนิ่งขึ้น ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยตามที่ตลาดคาด ในการประชุมวันที่ 26-27 เม.ย.ที่ผ่านมา
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยทยอยส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นในเดือน มี.ค.59 โดยการส่งออกขยายตัวได้เป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน แม้สาเหตุหลักมาจากการส่งออกทองคำ ขณะที่แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญยังคงมาจากการใช้จ่ายของภาครัฐ โดยเฉพาะงบลงทุนที่มีการเร่งเบิกจ่ายอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 59 อยู่ที่ 31.9% ของงบลงทุนทั้งหมด ตลอดจนภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง นำโดยนักท่องเที่ยวจีนและอาเซียน นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวยุโรป โดยเฉพาะจากรัสเซีย ก็มีทิศทางการฟื้นตัวขึ้น
ด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในภาวะอ่อนแรง แต่ตัวเลขที่เคยหดตัวสูง อย่างยอดขายรถยนต์ ราคาสินค้าเกษตร และการนำเข้า เป็นต้น ก็เริ่มติดลบในอัตราที่น้อยลง และคาดหวังว่ามาตรการของภาครัฐในระยะที่ผ่านมา ประกอบกับ การเร่งผลักดันการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ จะช่วยบรรเทาผลกระทบและฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กับภาคธุรกิจในระยะต่อไป
นายเจน กล่าวว่า แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น แต่ กกร.ยังมีความเป็นห่วงต่อทิศทางค่าเงินบาท โดยการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของผู้ส่งออก ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญอาจยังมีความไม่แน่นอน รวมทั้งยังมีความท้าทายจากความสามารถทางการแข่งขันด้วย อย่างไรก็ตาม กกร.ยังประเมินว่า การส่งออกในปี 59 อาจจะขยายตัวในกรอบ 0.0-2.0% โดยจะมีการติดตามและทบทวนสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นอกจากนั้น กกร.จะสนับสนุนการออกกฎหมายดิจิทัลของรัฐบาล โดยเฉพาะร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.... ซึ่งเป็นกฎหมายพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล เพราะในการส่งข้อมูล และการทำธุรกรรมในยุคดิจิทัล ภาคธุรกิจและประชาชนต้องเชื่อมั่นว่าได้ให้ความคุ้มครองแก่ข้อมูลส่วนบุคคลของตนอย่างพอเพียงและเหมาะสม กฎหมายดังกล่าวจึงต้องส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจดิจิทัลและสอดคล้องกับสิทธิพื้นฐานอื่นของประชาชน ตลอดจนได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของสากลมิฉะนั้น อาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆ เช่น สถาบันการเงิน เป็นต้น รวมทั้งส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายสำคัญของรัฐบาล ในการส่งเสริม Start-up and Innovation Business จึงควรมีการหารือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนให้ระเอียดรอบคอบก่อนการออกกฎหมายฉบับนี้
และ ที่ประชุม กกร. ยังได้มีการหารือเรื่องค่าแรงขั้นต่ำ โดยที่ประชุมมีจุดยืนที่สอดคล้องกับคณะกรรมาธิการพาณิชย์ แรงงาน และอุตสาหกรรม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โดยมีการนำเสนอในประเด็นสำคัญ ดังนี้ 1) ค่าจ้างขั้นต่ำไม่ควรมีอัตราเดียวกันทั่วประเทศ โดยเสนอให้ค่าแรงขั้นต่ำเป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจในภูมิภาคนั้นๆ 2) ควรให้คณะกรรมการค่าจ้างกลาง(ไตรภาคี) เป็นผู้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ ในการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยพิจารณาตามข้อมูลข้อเสนอของคณะอนุกรรมการค่าจ้างจังหวัดเป็นหลัก 3) ขอให้ภาครัฐสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพ(Productivity)ให้สอดคล้องกับการปรับค่าจ้างที่สูงขึ้น 4) ขอให้ภาครัฐกำหนดนโยบายพัฒนาระบบโครงสร้างค่าจ้างที่สอดคล้องกับผลิตภาพแรงงานของประเทศในระยะยาว
ทั้งนี้ ในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ที่ประชุมขอให้คำนึงถึงเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (Competitiveness) และการนำมาตรฐานฝีมือแรงงานมาประกอบการพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำด้วย