ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดกนง. 11 พ.ค.ยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.50% รอประเมินทิศทางศก.-ปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 4, 2016 15:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในการประชุมครั้งที่ 3 ของปีวันที่ 11 พ.ค.นี้ จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% เนื่องจากมาตรการต่างๆของภาครัฐที่ออกมาในช่วงที่ผ่านมา ผนวกกับต้นทุนทางการเงินที่อยู่ในระดับต่ำ (ซึ่งน่าจะเอื้อต่อบรรยากาศการลงทุนและการบริโภค) รวมทั้ง ความเสี่ยงจากปัจจัยต่างประเทศที่คลายตัวลงบางส่วน น่าจะสนับสนุนให้ กนง. รอประเมินพัฒนาการเศรษฐกิจไทยอีกระยะหนึ่งได้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมานั้น รัฐบาลได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศเพิ่มเติมหลายมาตรการ ซึ่งน่าจะมีส่วนช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงหลายเดือนข้างหน้า อาทิ มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ โครงการบ้านประชารัฐ มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงสงกรานต์ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยหนุนจากการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ และการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งโดยรวมแล้ว น่าจะช่วยบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้งและภาวะราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ที่กดดันรายได้เกษตรกรและกำลังซื้อในประเทศลงได้บ้าง

ขณะที่ต้นทุนทางการเงินของไทยในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำมากแล้ว ซึ่งน่าจะเอื้อต่อบรรยากาศการลงทุนและบริโภคของภาคธุรกิจและครัวเรือน โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย (ต้นเดือนพฤษภาคม) อายุ 10 ปี มีอัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 1.80% ซึ่งต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีที่ 1.82% อันบ่งชี้ถึงต้นทุนในการระดมทุนผ่านตลาดเงินของไทยที่อยู่ในระดับต่ำมาก

อีกทั้งในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืม ก็น่าจะเป็นอีกปัจจัยเสริมที่ช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ผ่านการปรับลดลงของต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจ และผู้บริโภคได้ในระดับหนึ่ง

ด้านพัฒนาการของเศรษฐกิจจีนที่ทยอยปรับดีขึ้นคงช่วยลดความเสี่ยงต่อภาคการส่งออกได้ระดับหนึ่ง โดยการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 1/2559 ออกมาดีกว่าที่หลายฝ่ายกังวล อีกทั้งเครื่องชี้ภาคการผลิตของจีน อาทิ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของทางการที่สามารถปรับตัวอยู่เหนือระดับ 50 ติดต่อกัน 2 เดือน รวมถึงการส่งออกของจีนที่เริ่มกลับมาขยายตัว ซึ่งบ่งชี้ถึงเสถียรภาพของเศรษฐกิจจีนที่มีมากขึ้น โดยหากเครื่องชี้เศรษฐกิจจีนต่างๆ ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องมากขึ้น ก็น่าช่วยคลายความกังวลต่อโอกาสที่การส่งออกของไทยในปี 59 นี้จะหดตัวติดต่อกันเป็นปีที่ 4 ลงไปได้บางส่วน

อย่างไรก็ตาม ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ในระยะต่อไป ยังแปรผันตามสถานการณ์เศรษฐกิจและปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตามหลายด้าน ได้แก่ พัฒนาการของเศรษฐกิจไทย หลังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐบางส่วนเริ่มทยอยสิ้นสุดลง อาทิ มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯ โดยการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง ที่จะสิ้นสุดลงไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา อาจส่งผลให้กิจกรรมเศรษฐกิจเหล่านี้อ่อนกำลังลง หลังจากที่ผู้บริโภคได้เร่งการตัดสินใจในช่วงที่รัฐบาลได้มีการให้สิทธิพิเศษ

การดำเนินนโยบายการเงินของเฟดที่อาจส่งสัญญาณที่ระมัดระวังมากขึ้นต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้ ท่ามกลางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไตรมาส 1/2559 ที่ขยายตัวชะลอลง อาจทำให้เฟดยังคงความระมัดระวังในการประเมินภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และไม่น่าจะรีบปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งหาก เฟดส่งสัญญาณถึงโอกาสที่น้อยลงในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงครึ่งแรกของปี ก็คงเป็นการเปิดช่องให้ธนาคารกลางหลายๆ ประเทศสามารถที่จะดำเนินนโยบายผ่อนคลายเพิ่มเติมได้ อาทิ ธนาคารกลางออสเตรเลียที่ล่าสุดได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.25% เหลือ 1.75% ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 ที่ผ่านมา

ทิศทางการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท โดยการส่งสัญญาณเลื่อนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้น (โดยแข็งค่าขึ้นประมาณ 3% จากระดับสิ้นปี 2558) ซึ่งอาจจะเป็นหนึ่งในปัจจัยกดดันภาคการส่งออก ที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณความต้องการสินค้าที่อ่อนแออยู่แล้ว แม้ว่าในปัจจุบัน ทางการจะมีเครื่องมือในการดูแลความเคลื่อนไหวของค่าเงินให้สอดคล้องกับประเทศคู่ค้า แต่ในกรณีที่ประเทศคู่ค้าหลายประเทศใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย และทำให้ค่าเงินของตนมีทิศทางที่อ่อนค่าลงเพิ่มเติมในอนาคต ย่อมเป็นปัจจัยที่กดดันความสามารถในการแข่งขันของสินค้าออกไทยได้

ทั้งนี้ ภายใต้เงื่อนไขที่แรงกระตุ้นทางคลังที่เพิ่มเติมเข้ามา สามารถชดเชยปัจจัยลบต่างๆ ข้างต้น อาทิ ผลของมาตรการที่ทยอยหมดอายุลง และการชะลอตัวของการส่งออก รวมถึงผลกระทบทางอ้อมจากความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายได้ ก็คงทำให้ กนง.ยังสามารถรักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.50% ได้ต่อเนื่อง แต่หากปรากฎสถานการณ์ที่จังหวะของเหตุการณ์ต่างๆ ข้างต้น เกิดขึ้น หรือทยอยส่งผลลบชัดเจนในระยะเวลาที่ไล่เลี่ยกัน ก็อาจทำให้ กนง.มีความจำเป็นมากขึ้นที่ต้องพิจารณาทางเลือกในการผ่อนคลายนโยบายเพิ่มเติมได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ