สถาบันอาหาร ชี้ค้าปลีกอาหารในซาอุฯ แนวโน้มดี อาหารพร้อมทานมาแรง

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 9, 2016 12:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า องค์กรส่งเสริมการลงทุนแห่งราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย (Saudi Arabian General Investment Authority - SAGIA) ได้ออกกฎระเบียบใหม่ โดยอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติมีกรรมสิทธิ์ 100% ในธุรกิจค้าปลีกและค้าส่งซาอุดิอาระเบีย โดยจะเริ่มใช้ในปี 2559 ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจในซาอุดิอาระเบียมากยิ่งขึ้น ย่อมส่งผลดีในหลายๆด้าน เช่น การปรับโครงสร้างของภาคธุรกิจในซาอุดิอาระเบีย การเพิ่มผลผลิต การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเพิ่มโอกาสในการจ้างงานของคนในซาอุดิอาระเบีย

ปัจจุบันจำนวนไฮเปอร์มาร์เก็ตในซาอุดิอาระเบียยังมีค่อนข้างน้อยหรืออยู่ที่ประมาณ 220 แห่ง อาทิ Panda, Carrefour, Danube เป็นต้น ซูเปอร์มาร์เก็ตมีประมาณ 680 แห่ง อาทิ Panda, Al-Othaim, Farm, Al Raya, Tamimi, Bin Dawood เป็นต้น

ส่วนร้านสะดวกซื้อมีอยู่ประมาณ 39,540 แห่ง อาทิ Panda เป็นต้น มีสัดส่วนยอดขายคิดเป็น 22% 23% และ 55% ของยอดขายปลีกอาหารทั้งหมดตามลำดับ จากการขยายตัวของร้านค้าปลีกโดยเฉพาะไฮเปอร์มาร์เก็ตและซูเปอร์มาร์เก็ต คาดการณ์ว่าในปี 2560 ยอดขายปลีกอาหารจะแตะอยู่ที่ 45,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจนำสินค้าอาหารเข้าสู่ตลาดซาอุดิอาระเบีย ควรเป็นสินค้าอาหารพร้อมทานที่มีความสะดวกและง่ายในการรับประทาน อีกทั้งควรวางจำหน่ายในช่องทางค้าปลีกสมัยใหม่ เพราะเป็นช่องทางหลักที่ผู้โภคในเมืองเลือกซื้อสินค้า ทั้งนี้ควรตั้งราคาจำหน่ายให้ใกล้เคียงกับประเทศที่ส่งสินค้าไปขายในภูมิภาคนี้ เช่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ และสิงค์โปร์ เน้นผลิตสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ และมองหาสินค้าที่มีคุณภาพสูง และจากจำนวนประชากรในวัยหนุ่มสาวที่เพิ่มจำนวนขึ้นในกลุ่มประเทศGCC ทำให้สื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook และ Twitter มีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงควรให้ความสนใจกับช่องทางนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ในสื่อสารกับผู้บริโภคโดยตรง และเป็นการประชาสัมพันธ์สินค้าได้อีกทางหนึ่ง อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการไทยควรศึกษากฎระเบียบการส่งออกสินค้าอาหารไปยังกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับหรือ GCC (ซาอุดิอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และบาห์เรน) เพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในระหว่างส่งออกสินค้า เช่น เอกสารและหนังสือรับรองที่ต้องใช้ในการนำเข้าสินค้า ระบบการควบคุมสินค้าอาหารตามระดับความเสี่ยง ระบบการขนส่งสินค้า การสุ่มตัวอย่างสินค้าอาหาร และการติดฉลากสินค้าอาหาร

ทั้งนี้ ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร(http://fic.nfi.or.th) ได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับแนวโน้มธุรกิจ ค้าปลีกอาหารในซาอุดิอาระเบียซึ่งเป็น 1 ใน 6 ของกลุ่มประเทศ GCC พบว่า ในภาพรวมระหว่างปี 2557 ถึง 2562 ปริมาณการบริโภคอาหารในกลุ่มประเทศ GCC คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 3.5% โดยคาดว่าในปี 2562 ปริมาณการบริโภคอาหารทั้งภูมิภาคจะอยู่ที่ 51.9 ล้านเมริกตัน เนื่องจากมีการขยายตัวของประชากร คาดว่าเพิ่มขึ้นอีก 2.4% จาก 50 ล้านคน ในปี 2558 เป็น 57.6 ล้านคน ในปี 2562 ทั้งมีแนวโน้มที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นอีก 3% ในปี 2562 ขณะที่รายได้ของประชากรในกลุ่มประเทศ GCC คาดว่าต่อคนต่อหัวจะเพิ่มขึ้นอีก 2.5% ในปี 2562 ส่งผลต่อพฤติกรรมการเลือกบริโภค โดยจะสนใจซื้ออาหารที่มีราคาสูงเพิ่มมากขึ้น เช่น สินค้าเกษตรอินทรีย์ เนื้อหมัก นมปรุงแต่ง และอาหารพร้อมปรุง ส่วนธัญพืชเป็นหมวดสินค้าอาหารที่มีการบริโภคมากที่สุดในภูมิภาค โดยคาดว่าในปี 2562 จะมีสัดส่วนถึง 46.5% ของปริมาณการบริโภคอาหารทั้งหมด

เฉพาะซาอุดิอาระเบียเป็นประเทศที่มีการบริโภคอาหารมากที่สุดในกลุ่มประเทศ GCC หรือคิดเป็น 60% ของปริมาณการบริโภคอาหารทั้งหมด สาเหตุหลักมาจากการเติบโตของประชากรในประเทศ โดยมีจำนวนประชากรเกือบ 2 เท่าของสมาชิกที่เหลืออีก 5 ประเทศรวมกัน ทั้งยังเป็นผู้นำเข้าสินค้าอาหารและการเกษตรรายใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศ GCC คือราว 80% ของความต้องการบริโภคในประเทศ คาดการณ์ว่าซาอุดิอาระเบียจะมีประชากรประมาณ 40 ล้านคนในปี 2568 ด้วยอัตราการเติบโต 3% ต่อปี

นอกจากนี้ จากการเติบโตทางเศรษฐกิจช่วยให้รายได้ต่อหัวของคนในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้มีการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต และมีความต้องการการบริโภคสินค้าอาหารที่มีคุณภาพสูงมากขึ้น ในปี 2559 คาดการณ์ว่าการบริโภคอาหารในประเทศจะมีมูลค่าอยู่ที่ 113,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การเพิ่มขึ้นของประชากรในวัยหนุ่มสาวของสังคมซาอุดิอาระเบียเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มความต้องการบริโภคอาหารสำเร็จรูปที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ ประกอบกับสังคมเมืองในซาอุดิอาระเบียที่มีชีวิตรีบเร่ง ผู้บริโภคจึงนิยมซื้ออาหารพร้อมทานหรืออาหารที่นำกลับไปรับประทานที่บ้านจากซูเปอร์มาร์เก็ต หรือไฮเปอร์มาร์เก็ต หรือนิยมรับประทานอาหารนอกบ้านแทน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ