นายเชิดศักดิ์ อรรถอารุณ ผู้จัดการฝ่ายประสานกิจการภายนอก บมจ.อัครา รีซอร์สเซส กล่าวว่า ประเทศไทยจะสูญเสียโอกาสของธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ หลังจากที่รัฐบาลจะยกเลิกการทำกิจการเหมืองแร่ทองคำในประเทศทั้งหมดหลังสิ้นปี 59 โดยบริษัทจำเป็นต้องทบทวนแผนงานใหม่ทั้งหมดจากเดิมที่เตรียมจะลงทุนราว 3 หมื่นล้านบาทเพื่อผลิตสินแร่ทองคำรองรับการผลิตได้อีกราว 7 ปี ขณะที่ล่าสุดบริษัทได้รับอนุญาตให้โรงประกอบโลหกรรมที่จะหมดอายุในวันที่ 13 พ.ค.นี้ได้ถึงแค่สิ้นปีนี้เท่านั้น
"ผลที่ออกมาไม่ค่อยดีเท่าไหร่ หลังจากนี้คงต้องว่ากันต่อไป คงต้องไปทำความเข้าใจและศึกษาข้อมูลตรงนี้ เรายังไม่ได้เตรียมตัวรับตรงนี้เหมือนกัน ก็คงลำบากเล็กน้อยที่รัฐบาลต่ออายุให้ถึงเพียงสิ้นปี ส่วนที่เหลือจะทำอย่างไรเป็นพันธกรณีของภาครัฐและผู้ประกอบการ...ผลที่ออกมาแย่กว่าที่คาดหมาย การลงทุนของเราหลังจากนี้คงต้องไปปรับแผนใหม่จากเดิมที่คิดว่าจะทำได้อีก 7-8 ปี ก็เหลือ 5-7 เดือน"นายเชิดศักดิ์ กล่าว
นายเชิดศักดิ์ กล่าวว่า มติที่ออกมาทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสการลงทุน และโอกาสของธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ เพราะหมายถึงในอนาคตประเทศไทยจะไม่มีการทำเหมืองทองคำหรือสำรวจแหล่งแร่ทองคำอีก และยังมีอุตสาหกรรมแร่ประเภทใดอีกบ้างที่รัฐบาลจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ดำเนินการซึ่งรัฐบาลควรจะมีความชัดเจนในส่วนนี้ด้วย
สำหรับในส่วนของบริษัท คิงส์เกท คอนโซลิเดดเต็ด ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 48% นั้น ก็เฝ้าติดตามเรื่องดังกล่าวอยู่ ซึ่งหลังจากนี้คงต้องทำความเข้าใจร่วมกันว่าจะมีแนวนโยบายดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งเบื้องต้นเห็นว่าเป็นสิ่งที่ลำบากพอควร
อนึ่ง เมื่อช่วงบ่ายนางอรรชา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ว่า กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีมติร่วมกันในการยุติการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำและประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำ รวมถึงคำขอต่ออายุประทานบัตรทั่วประเทศด้วย เพื่อประโยชน์ของสังคมและประชาชนส่วนรวม เนื่องจากยังคงมีปัญหาข้อร้องเรียนและข้อขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่ แม้จะยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าปัญหาข้อร้องเรียนและผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอนามัยของประชาชนเกิดจากการทำเหมืองแร่ทองคำหรือไม่
สำหรับในกรณีของบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด เห็นควรให้ต่อใบอนุญาตประกอบโรงประกอบโลหกรรมที่จะหมดอายุวันที่ 13 พ.ค.นี้ไปจนถึงสิ้นปี 59 เพื่อให้สามารถนำแร่ที่เหลืออยู่ไปใช้ประโยชน์ได้ พร้อมทั้งให้บริษัทเร่งดำเนินการปิดเหมืองและฟื้นฟูพื้นที่ที่ผ่านการทำเหมืองให้เป็นไปตามเงื่อนไขการอนุญาต ซึ่งจะทำให้หลังสิ้นปี 59 นี้จะไม่มีการทำเหมืองแร่ทองคำในประเทศไทยอีกต่อไป
นายเชิดศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีประทานบัตรทำเหมืองแร่ทองคำเพื่อผลิตสินแร่ทองคำ ทั้งหมด 14 แปลง พื้นที่รวม 3,725 ไร่ ในพื้นที่รอยต่อจ.พิจิตร และเพชรบูรณ์ โดยมีประทานบัตร 1 แปลงที่หมดอายุตั้งแต่ปี 55 และอยู่ระหว่างการขอต่อประทานบัตร ซึ่งที่ผ่านมาการต่ออายุประทานบัตรดังกล่าวได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติแร่ พร้อมทั้งได้จ่ายค่าผลตอบแทนพิเศษให้กับภาครัฐตามกฎหมายเป็นเงิน 19 ล้านบาทแล้วตั้งแต่ปี 55 แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้รับอนุญาตให้ต่ออายุประทานบัตร ขณะที่จะมีประทานบัตรอีก 4 แปลงที่จะหมดอายุในปี 62 และอีก 9 แปลงจะหมดอายุในปี 71
ขณะที่มีโรงประกอบโลหกรรม ซึ่งมีกำลังการผลิต 6.2 ล้านตัน/ปี โดยมีการผลิตแท่งโลหะผสม ที่มีชื่อเรียกทางการค้าว่า แท่งโดเร่ (Dore) ซึ่งจะมีส่วนผสมของโลหะคำ 10-15% ,โลหะเงิน 80% ส่วนที่เหลือเป็นโลหะไม่มีค่าอื่น ซึ่งแท่งโดเร่ที่ผลิตได้จะถูกส่งไปแยกเป็นโลหะทองคำบริสุทธิ์ 99.99% และโลหะเงินบริสุทธิ์ 99.50% ที่ต่างประเทศ เพราะว่าในช่วงก่อนหน้านี้ไทยไม่มีโรงงานแยกทองคำบริสุทธิ์ขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถผลิตทองคำได้ราว 1.2-1.3 แสนออนซ์/ปีเท่านั้น โดยโรงประกอบโลหกรรมดังกล่าวนั้นจะหมดอายุของใบอนุญาตในวันที่ 13 พ.ค.นี้
ทั่งนี้ หากบริษัทได้รับการต่อใบอนุญาตโรงประกอบโลหกรรมออกไปอีก 5 ปีตามปกติก็พร้อมที่จะไปเจรจากับโรงงานแยกทองคำบริสุทธิ์ที่มีปัจจุบันได้มีการเปิดดำเนินการในไทยแล้ว 4-5 แห่ง เพื่อส่งแทงโดเร่ให้กับโรงงานแยกทองคำเหล่านั้นดำเนินการต่อไป ซึ่งจะเป็นการช่วยส่งเสริมให้เกิด supply chain ของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศ
นอกจากนี้บริษัทยังได้เคยยื่นขออนุญาตอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำกับภาครัฐบาลอีกว่า 100 แปลงทั้งในบริเวณใกล้เคียงกับพื้นที่เดิมในจ.พิจิตร และเพชรบูรณ์ รวมถึงในจ.ลพบุรี เนื่องจากเห็นว่ามีศักยภาพของสายแร่ทองคำ แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติในเรื่องดังกล่าว
นายเชิดศักดิ์ คาดว่าหากรัฐบาลต่ออายุใบอนุญาตโรงประกอบโลหกรรม และประทานบัตรการทำเหมืองแร่ทองคำจำนวน 1 แปลงที่หมดอายุนั้น ก็จะทำให้บริษัทยังสามารถผลิตทองคำในประเทศได้อีกราว 7 ปี ซึ่งบริษัทจะใช้เงินลงทุนอีกราว 3 หมื่นล้านบาทเพื่อผลิตสินแร่ทองคำเพิ่มขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดการลงทุนและเงินทุนหมุนเวียนในพื้นที่ดังกล่าวอีกด้วย
แต่หากรัฐบาลไม่ต่ออายุใบอนุญาตโรงประกอบโลหกรรมที่จะหมดอายุลง ก็ทำให้บริษัทมีความจำเป็นต้องยุติการทำเหมืองแร่ทองคำไปด้วยโดยปริยาย เพราะแม้จะสามารถผลิตสินแร่ทองคำได้แต่ไม่คุ้มที่จะส่งออกไปผลิตแท่งโลหะผสมในพื้นที่อื่น ซึ่งกรณีดังกล่าวจะกระทบต่อพนักงานในกลุ่มบริษัทที่มีอยู่ราว 900-1,000 คน รวมถึงพนักงานในส่วนซับคอนแท็กซ์ และครอบครัวของพนักงานเหล่านั้น รวมกันประมาณ 4,000 คนที่อาจจะได้รับผลกระทบ
โดยแนวทางเบื้องต้นบริษัทคาดว่าอาจจะมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครอง และขอความคุ้มครองฉุกเฉิน เพราะเป็นความขัดแย้งระหว่างภาครัฐและเอกชน เพราะบริษัทมีความมั่นใจว่าได้ดำเนินการตามขั้นตอนการขอนุญาตต่างๆครบถ้วนแล้ว และยังได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของภาครัฐในการดูแลเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพอย่างครบถ้วน
อย่างไรก็ตามล่าสุดการที่ภาครัฐได้ต่ออายุให้โรงประกอบโลหกรรมของบริษัทดำเนินการได้จนถึงสิ้นปี 59 นั้นเป็นสิ่งที่บริษัทไม่ได้คาดการณ์มาก่อน หลังจากนี้คงต้องนำข้อมูลที่ได้ไปพิจารณาและทบทวนแผนงานและนโยบายการทำงาน รวมถึงประเด็นการฟ้องร้องต่อภาครัฐใหม่อีกครั้งก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
นายเชิดศักดิ์ กล่าวถึงแผนการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ก่อนหน้านี้บริษัทมีแผนที่จะระดมทุนเพื่อรองรับการขยายงานดังกล่าว ประกอบกับราคาทองคำในตลาดโลกอยู่ในระดับสูง แต่เมื่อเห็นว่าแผนการขยายงานยังไม่มีความแน่นอน และราคาทองคำก็ลดต่ำลง ทำให้ความน่าสนใจจะเข้าจดทะเบียนในตลท.อาจจะลดน้อยลง และได้ถอนไฟลิ่งการเสนอขายหุ้นให้ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ออกมาก่อน
อย่างไรก็ตามนอกจากการดำเนินธุรกิจในประเทศแล้ว บริษัทยังคงได้รับสิทธิสำรวจเหมืองแร่ในลาวและเมียนมาด้วย โดยผลสำรวจเบื้องต้นพบว่าน่าสนใจ แต่เมื่อบริษัทแม่ยังไม่ความแน่นอนในการทำธุรกิจ และยังไม่มีเม็ดเงินลงทุนมากนัก ก็เลยทำให้การสำรวจเหมืองแร่ในลาวและเมียนมาหยุดไปก่อน แต่สิทธิการสำรวจยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน