นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า วานนี้ (11 พฤษภาคม 2559) ได้เกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือ พีค (Peak) ที่ 29,618.8 เมกะวัตต์ (MW) เมื่อเวลา 22.28 น. ที่อุณหภูมิ 33 องศาเซลเซียส ทำลายตัวเลขการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่ 29,600.8 เมกะวัตต์ เมื่อเวลา 14.12 น. ของวันเดียวกัน ซึ่งนับเป็นการทำลายตัวเลขพีคครั้งที่ 7 ของปี 59 เป็นรอบที่ 2
สาเหตุสำคัญมาจากการใช้ไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ และบริการ และบ้านอยู่อาศัยเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงวันทำงานปกติและอากาศที่ร้อนอบอ้าวต่อเนื่อง ทำให้เกิดความร้อนสะสมตลอดทั้งวัน ประกอบกับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทเลือกใช้อัตราค่าไฟฟ้าตามช่วงเวลาของการใช้ (Time of Use Rate: TOU Rate) ซึ่งจะมีการใช้ไฟฟ้าในช่วงที่ระบบมีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อย (Off Peak) เวลา 22.00 -09.00 น. โดยเฉพาะพื้นที่ภาคกลาง ทยอยเพิ่มการใช้ไฟฟ้าหลังเวลา 22.00 น.
ในส่วนของกำลังผลิตรองรับพร้อมจ่ายนั้น มีความมั่นคงเพียงพอ เนื่องจากมีปริมาณไฟฟ้าสำรองที่ประมาณ 10-15% หรือไม่ต่ำกว่า 32,000 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ดีหากมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ กฟผ. ได้มีการเตรียมพร้อม โดยวางแผนงดบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าหลักในช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม นี้ รวมถึงจัดสรรการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว มากเป็นพิเศษในช่วงฤดูร้อน ตลอดจนสำรองน้ำมันเตาที่โรงไฟฟ้าราชบุรีและโรงไฟฟ้าบางปะกง และประสานกับ บมจ.ปตท. ให้สำรองก๊าซธรรมชาติ เพื่อรองรับสถานการณ์
กฟผ. จึงขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันประหยัดไฟฟ้าตามมาตรการ “ปิด - ปรับ - ปลด - เปลี่ยน" วันละ 1 ชั่วโมง ในช่วงเวลา 14.00-15.00 น. เป็นเวลา 2 เดือน ตั้งแต่ 20 มีนาคม - 20 พฤษภาคม 2559 โดยปิดไฟดวงที่ ไม่ใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งขอความร่วมมือในการปรับลดอุณหภูมิเครื่องปรับอากาศมาอยู่ที่ระดับ 26 องศาเซลเซียส ซึ่งจะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าได้มาก ร่วมกับการปลดปลั๊กเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งาน และเปลี่ยนมาใช้อุปกรณ์ที่ประหยัดไฟฟ้า ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้า รวมถึงสนับสนุนให้กฟผ. สามารถทำหน้าที่ดูแลกำลังผลิตไฟฟ้าและเชื้อเพลิงให้เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศได้เป็นอย่างดี