นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมการค้าภายในและพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ ติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรที่จำเป็นต่อการบริโภคในชีวิตประจำวัน ทั้งผักสด เนื้อสุกร ไก่ และไข่ไก่อย่างใกล้ชิด เพราะขณะนี้หลายรายการมีปัญหาผลผลิตขาดแคลนและราคาปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่ร้อนและแล้ง ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง โดยขอให้มีการลงพื้นที่ไปสำรวจแหล่งผลิต แหล่งเลี้ยง เพื่อตรวจสอบดูว่าแนวโน้มผลผลิตว่ามีปัญหาการขาดแคลนหรือไม่ เพื่อที่จะได้เตรียมการรับมือได้ล่วงหน้า
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า ผลผลิตพืชผัก ได้แก่ ผักคะน้า, ผักบุ้งจีน, ผักกาดหอม, ผักกาดขาวปลี, กะหล่ำปลี, ถั่วฝักยาว, ผักกวางตุ้ง และมะนาว ราคาขายส่งและขายปลีกปรับตัวสูงขึ้นจริง เพราะภัยแล้งมีผลต่อการเพาะปลูกโดยรวมโดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคกลาง เช่น นนทบุรี, อ่างทอง, สิงห์บุรี, ราชบุรี, สุพรรณบุรี, นครปฐม, สมุทรสาคร, กาญจนบุรี และเพชรบุรี ซึ่งยังมีแหล่งน้ำที่สามารถเพาะปลูกได้ จะเป็นแหล่งป้อนผักเข้าสู่ตลาด แต่ก็ยังมีแนวโน้มปริมาณผลผลิตลดลงและผักเติบโตช้า แต่คาดว่าในช่วงปลายเดือน พ.ค.59 เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน มีฝนตกมากขึ้น ปริมาณผลผลิตจะเพิ่มขึ้นและระดับราคาจะปรับลดลง
สำหรับราคาผักสดปัจจุบันเมื่อเทียบกับช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ เช่น ผักคะน้า ขายปลีก ราคา 36.50 บาท/กิโลกรัม (กก.) เพิ่มขึ้น 77.18% ผักกาดขาวปลี ขายปลีก ราคา 26.50 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 32.97% ถั่วฝักยาว ขายปลีก ราคา 91 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 129.97% ผักกวางตุ้ง ขายปลีก ราคา 36.50 บาท/กก. เพิ่มขึ้น 128.84% มะนาวแป้น ขายปลีก ราคา 8.00 บาท/ลูก เพิ่มขึ้น 94.65%
ส่วนเนื้อสุกร ราคาเพิ่มขึ้นจากช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ เฉลี่ย กก.ละ 17.50 บาท หรือเพิ่มขึ้น 12.9% เนื่องจากอากาศร้อน ลูกสุกรโตช้า และต้นทุนการเลี้ยงสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าไฟฟ้า ค่าน้ำและอาหารสัตว์ เนื้อไก่ ราคาต่ำกว่าช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ เฉลี่ย กก.ละ 2.50 บาท หรือลดลง 3.5% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปี 2558 เฉลี่ย กก.ละ 5 บาท หรือลดลง 6.9% เนื่องจากมีการเลี้ยงเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการเปิดตลาดเนื้อไก่สดของญี่ปุ่นและเกาหลี และไข่ไก่ ราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วง 3 เดือนแรกของปี เฉลี่ยฟองละ 10 สตางค์ หรือเพิ่มขึ้น 3.1% เนื่องจากผลผลิตในระบบลดลง แต่คาดว่าราคาจะขยับขึ้นอีกเล็กน้อย หลังจากเปิดเทอมตั้งแต่เดือนพ.ค.2559 เป็นต้นไป
นางอภิรดี กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหา ได้สั่งการให้ดำเนินมาตรการเชื่อมโยงผลผลิตจากแหล่งผลิตไปจำหน่ายยังแหล่งที่ขาดแคลน โดยจัดการเชื่อมโยงตลาด จัดสถานที่จำหน่ายผักสดและแปรรูปราคาถูกจากแหล่งผลิต ทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคกลางสู่ผู้บริโภคโดยตรง การประสานห้างค้าปลีกและตลาดสดให้เป็นแหล่งจำหน่าย และยังได้นำไปจำหน่ายในงานธงฟ้า ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค การจัดจำหน่ายในศูนย์กระจายสินค้า (Farm Outlet) ในจังหวัดต่างๆ
นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้มีการตรวจกำกับดูแลร้านค้าต่างๆ ให้มีการปิดป้ายแสดงราคาสินค้า และไม่ถือโอกาสฉกฉวยขึ้นราคา รวมทั้งตรวจสอบเครื่องชั่ง ตวง วัด เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคโดนเอาเปรียบ และให้มีการดูแลเรื่องร้องเรียนที่มีการร้องเรียนผ่านสายด่วน 1569 อย่างใกล้ชิด