สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เครือข่ายนวัตกรรมยางพารา
นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ประเทศไทยมีการขับเคลื่อนและส่งเสริมอุตสาหกรรมยางพาราอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ยาง รวมทั้งการกำหนดมาตรฐานและการพัฒนาด้านบุคลากร เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางพาราในภูมิภาค แซงหน้าผู้ผลิตและผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่อย่าง มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์
โดยในปี 58 ประเทศไทยมีการผลิตยางพาราในประเทศ ประมาน 4.47 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2557 จำนวน 1 แสนตัน และมีปริมาณการใช้ยางพาราในประเทศ จำนวน 6 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปี 57 จำนวน 6 หมื่นตัน สำหรับการส่งออกยางพาราต้นน้ำ มีปริมาณ 3.74 ล้านตัน ลดลงจากปี 57 จำนวน 3 หมื่นตัน
ส่วนมูลค่าของการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางของไทยปี 58 มีจำนวน 4.3 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นวัตถุดิบ 2 แสนล้านบาท และผลิตภัณฑ์ 2.3 แสนล้านบาท ซึ่งผลิตภัณฑ์หลักที่ถือว่าเป็น Product Champion ของอุตสาหกรรมยาง คือ ผลิตภัณฑ์ยางล้อ ที่มีมูลค่าในการส่งออก 1.2 แสนล้านบาท คิดเป็น 40% ของการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางทั้งประเทศ
อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่าสัดส่วนการใช้ยางพาราในประเทศยังมีสัดส่วนที่ไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการผลิตและส่งออกยางพารา ดังนั้น การส่งเสริมการดำเนินการเรื่องมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และการพัฒนาด้านบุคลากร และเทคโนโลยี จึงถือปัจจัยที่สำคัญต่อการสร้างความสามารถในการแข่งขันและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมยางของประเทศ
“สภาอุตสาหกรรมฯ คาดหวังว่า ความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เครือข่ายนวัตกรรมยางพารา ดังกล่าว จะส่งผลให้อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมยางอย่างยั่งยืนต่อไป" นายบวร กล่าว
นายบวร ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ทั้ง 4 องค์กร จะร่วมกันส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมในรูปแบบต่างๆ อาทิ นวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์จากยางพารา นวัตกรรมด้านเทคโนโลยีการผลิตหรือแปรรูปยางพารา นวัตกรรมด้านการวิเคราะห์ทดสอบวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ยางพารา รวมถึงด้านมาตรฐานต่างๆ นวัตกรรมด้านการบริหารจัดการและการผลิตยางพาราต้นน้ำและกลางน้ำ ได้แก่ การกรีดและเก็บรักษาน้ำยาง การแปรรูปยางขั้นต้น การจัดเก็บ และการขนส่ง เป็นต้น นวัตกรรมด้านการเพาะปลูกและการดูแลสวนยางพารา นวัตกรรมด้านการบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศด้านยางพารา รวมถึงนวัตกรรมด้านการเรียนการสอนและการผลิตบุคลากรด้านยางพารา
โดยมีขอบเขตความร่วมมือที่จะร่วมกันดำเนินงานสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา และความร่วมมือทางวิชาการ ในรูปแบบต่างๆ ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดการสร้างนวัตกรรมด้านยางพารา และก่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศไทย ร่วมกันจัดหาและสนับสนุนทรัพยากร เช่น บุคลากร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ ข้อมูลสารสนเทศ รวมทั้งข้อมูลความต้องการและแนวโน้มเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับยางพาราสำหรับใช้ในการดำเนินงาน จัดฝึกอบรมและสัมมนาด้านยางพาราให้แก่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันพัฒนาและผลิตบุคลากรด้านยางพารา เพื่อสนับสนุนการดำเนินการของอุตสาหกรรมยางพารา รวมถึงร่วมกันแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับทิศทางแนวโน้มความต้องการเทคโนโลยีด้านยางพารา รวมทั้งบูรณาการการดำเนินการของทั้ง 4 ฝ่าย เพื่อผลักดันให้มีการนำนวัตกรรมที่เกิดจากความร่วมมือไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม
ในส่วนของ ส.อ.ท. โดยกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง มีภารกิจและความรับผิดชอบหลักในการผลักดันให้มีการใช้ยางธรรมชาติในประเทศ และพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการส่งออกให้มากขึ้น การกำหนดโจทย์ และสนับสนุนข้อมูลแนวโน้มความต้องการนวัตกรรมยางพารา เพื่อให้อีก 3 ฝ่ายสร้างนวัตกรรมได้ตรงความต้องการของภาคอุตสาหกรรม หรือร่วมสนับสนุนการผลิตบุคลากรทางด้านเทคโนโลยียางพารา ในรูปแบบทุนการศึกษาทายาทอุตสาหกรรม การรับเข้าฝึกปฏิบัติงานสหกิจศึกษา การร่วมวิจัยระดับสูง และร่วมผลักดันให้ภารกิจและความรับผิดชอบหลักของอีก 3 ฝ่ายที่เหลือบรรลุผล
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุ-แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (ศว.พว.) มีภารกิจและความรับผิดชอบหลักในการดำเนินการวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างนวัตกรรมการบริหารจัดการและการผลิตยางพารากลางน้ำและปลายน้ำ เช่น เก็บรักษาน้ำยาง เทคโนโลยีการผลิตและการแปรรูปยางพาราขั้นต้น นวัตกรรมด้านการวิเคราะห์ทดสอบวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ยางพารา รวมถึงงานมาตรฐานต่างๆ จากโจทย์ที่ได้รับจาก กยท. และ ส.อ.ท. เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรม และร่วมผลักดันให้ภารกิจและความรับผิดชอบหลักของอีก 3 ฝ่ายที่เหลือบรรลุผล
และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) โดย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องของ ม.อ. มีภารกิจและความรับผิดชอบหลักในการสร้างนวัตกรรมการผลิตและพัฒนาบุคลากรทางด้านเทคโนโลยียางพาราให้มีคุณภาพสูง ทั้งในรูปแบบหลักสูตรระยะสั้น ร่วมกับ กยท. และหลักสูตรปกติ พร้อมกับสนับสนุนทางวิชาการตามความต้องการของอีก 3 ฝ่ายที่เหลือ โดยใช้ศักยภาพของคณาจารย์ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิและศิษย์เก่าที่มีประสบการณ์ปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรมยางพารา