นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 10 ระหว่างวันที่ 11-12 พ.ค. 59 ที่กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีนนั้น ผลการเจรจายึดหลักการเรื่องความร่วมมือระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล (จีทูจี) โดยไทยลงทุนเอง100% เริ่มการก่อสร้างช่วงกรุงเทพ-โคราช ก่อน และให้จีนพิจารณาเพื่อปรับลดวงเงินลงทุนลง พร้อมทั้งปรับกรอบเวลาการดำเนินงานโครงการให้เหมาะสมและเป็นไปได้
ที่ประชุมได้ข้อสรุปร่วมกันใน 5 ประเด็น คือ 1. วงเงินลงทุนโครงการ ฝ่ายไทยจะเป็นผู้รับผิดชอบการลงทุนโครงการทั้งหมดตามที่ผู้นำทั้ง 2 ประเทศได้เห็นชอบร่วมกันแล้ว ซึ่งคณะทำงานทั้งสองฝ่ายจะหารือร่วมกันเกี่ยวกับประมาณการมูลค่าการลงทุนตามที่ฝ่ายไทยได้ขอให้ฝ่ายจีนพิจารณาปรับตัวเลขต้นทุนการก่อสร้างและระบบรถไฟให้ลดลง โดยยังคงหลักการด้านมาตรฐานและความปลอดภัยและความเหมาะสม ซึ่งทางฝ่ายจีนจะหาข้อยุติภายใน 1 สัปดาห์ โดยอาจปรับลดบางรายการที่ยังไม่มีความจำเป็นในช่วงเริ่มต้น
2.รูปแบบการก่อสร้างโครงการ ที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันให้ดำเนินการในรูปแบบ Engineering Procurement and Construction (EPC) แยกการดำเนินการออกเป็น 2 ส่วน คือ งานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (Civil Work) (EPC-1) ฝ่ายไทยจะเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยให้ผู้รับเหมาก่อสร้างของไทยเข้าร่วมก่อสร้างโครงการ และเพื่อให้สามารถดำเนินการก่อสร้างได้เร็วที่สุด ทั้งสองฝ่ายเห็นว่าอาจจะแบ่งโครงการออกเป็น 4-5 ตอน
และงานระบบรางและรถไฟความเร็วสูง (EPC-2) ซึ่งฝ่ายจีนจะคัดเลือกรัฐวิสาหกิจของจีนที่มีผลงานด้านรถไฟความเร็วสูงที่มีคุณภาพโดยได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายไทยเป็นผู้ดำเนินการเป็นผู้ดำเนินการ รวมทั้งงานออกแบบรายละเอียด (Construction Drawing) ของงานโครงสร้างพื้นฐานใน EPC-1 โดยฝ่ายไทยจะใช้แบบรายละเอียดดังกล่าวในการคัดเลือกบริษัทก่อสร้างของไทยเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้าง และฝ่ายไทยและจีนจะร่วมกันกำกับและตรวจสอบคุณภาพการก่อสร้างงานโครงสร้างพื้นฐานให้เป็นไปตามมาตรฐานของระบบรถไฟความเร็วสูงของจีน
3.การให้บริการเดินรถไฟความเร็วสูงนั้น ไทยจะตั้งบริษัทเดินรถด้วยการลงทุนเองทั้ง 100% โดยจีนให้ความช่วยเหลือด้านบริหารจัดการ ฝึกอบรม พัฒนาบุคลากรตั้งแต่เริ่มต้น ซึ่งจะเปลี่ยนจากข้อตกลงเดิมที่การเดินรถจะเป็นการร่วมทุนไทย-จีน แต่หากจีนสนใจที่จะร่วมในส่วนของการเดินรถสามารถยื่นข้อเสนอเข้ามาได้
4. เรื่องเงินลงทนโครงการ ไทยจะเป็นผู้จัดหาทั้งหมด ซึ่งไทยยินดีใช้แหล่งเงินกู้จากจีน หากได้รับเงื่อนไขทางการเงินเหมาะสม ซึ่งทางรองนายกฯจีน ได้รับปากที่จะให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไว้ที่ 2% ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะพิจารณาเลือกแหล่งเงินที่เหมาะสมและถูกที่สุดต่อไป และ 5. แผนการดำเนินงานของโครงการ ที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันในการกำหนดแผนการดำเนินงานและกำหนดการเริ่มต้นก่อสร้างงานโยธาส่วนแรกให้ได้ภายในเดือน ส.ค.-ก.ย.59
นายอาคม กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่จะแบ่งการก่อสร้างช่วงกรุงเทพ-โคราชออกเป็น 4-5 ตอนเพื่อความรวดเร็ว โดยจะเลือกช่วงที่มีปัญหาการเวนคืนและอุปสรรคในการก่อสร้างน้อยที่สุดมาดำเนินการก่อน เช่น โคราช-ปากช่อง หรือ ช่วงบ้านภาชี ทั้งนี้จะต้องอยู่ที่การหารือกับจีนด้วย โดยคาดว่าจะใช้เวลาออกแบบรายละเอียดเสร็จใน 60 วัน ส่วนการเปิดเดินรถ จะทยอยเปิดเป็นช่วงๆ ที่เสร็จก่อนหรือไม่จะต้องหารือกับฝ่ายจีนเช่นกัน เนื่องจากจะต้องดูเทคโนโลยีของรถไฟความเร็วสูงด้วยว่า ทำได้หรือไม่
อย่างไรก็ตาม จะมีการประชุมร่วมไทย-จีน ครั้งที่ 11 ในเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อสรุปรายละเอียดของกรอบความร่วมมือในการดำเนินการระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ (Framework of Cooperation : FOC) ใหม่