(เพิ่มเติม1) ธปท.คาด NPL แบงก์พาณิชย์แนวโน้มเพิ่มต่อเนื่อง คาดสินเชื่อทั้งปีโตไม่เกิน 4.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 13, 2016 16:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในระบบธนาคารพาณิชย์ในปีนี้มีแนวโน้มสูงขึ้น หลังจากไตรมาส 1/59 ที่เพิ่มขึ้นมาเป็น 2.64% จากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 2.55% ขณะที่สินเชื่อในปีนี้คาดว่าจะเติบโตไม่เกิน 4.5% สอดคล้องกับคาดการณ์ของธนาคารพาณิชย์ ตามทิศทางเศรษฐกิจฟื้นตัวช่วงครึ่งปีหลังและการขอสินเชื่อขนาดใหญ่ของกลุ่มค้าปลีก แม้ว่าไตรมาส 1/59 ขยายตัว 3.3% ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า ประกอบกับมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น

“โดยปกติสินเชื่อจะขยายตัวได้ 1.5 เท่าของจีดีพี ทำให้ปีนี้น่าจะขยายตัวได้ 4.5% แต่ในภาวะที่ดอกเบี้ยต่ำ ทำให้คนหันไปออกตราสารหนี้มากขึ้น การขยายตัวสินเชื่อก็อาจไม่จำเป็นถึงในระดับนั้นก็ได้"นายดอน กล่าว

นายดอน เปิดเผยว่า ไตรมาส 1/59 ระบบธนาคารพาณิชย์มีเสถียรภาพ มีเงินสำรอง เงินกองทุน และสภาพคล่องในระดับสูง สามารถรองรับการขยายตัวของสินเชื่อและสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้ แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าส่งผลให้สินเชื่อขยายตัวชะลอลง คุณภาพสินเชื่อด้อยลง และส่งผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรของระบบธนาคารพาณิชย์

ทั้งนี้ NPL ในระบบธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 1/59 มียอดคงค้าง 357.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อน 19.9 พันล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วน Gross NPL ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็น 2.64% จาก 2.55% สินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (SM) มียอดคงค้างทั้งสิ้น 305.9 พันล้านบาท ลดลงจากสิ้นปีก่อน 8.2 พันล้านบาท ทำให้สัดส่วน SM ต่อสินเชื่อรวมลดลงมาอยู่ที่ 2.26% จาก 2.38% ณ สิ้นปี 58

นายดอน กล่าวว่า NPL ยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่อาจจะไม่ได้สูงมากในไตรมาส 2/59 และยังไม่สามารถระบุว่าจะเพิ่มสูงสุดในไตรมาสใด เพราะขึ้นกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยหนี้เสียในสินเชื่อเอสเอ็มอีมีทิศทางที่น่ากังวลมากที่สุด และสินเชื่อบัตรเครดิตที่ปรับเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 58 ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากนโยบายรัฐบาลที่มีการอัดฉีดสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอีช่วงไตรมาส 4/58 กว่า 1 แสนล้านบาท รวมทั้งมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย เช่น ช็อปช่วยชาติ มาตรการอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

“การกระตุ้นเอสเอ็มอีทำได้หลายทาง ไม่ใช่แค่การปล่อยสินเชื่อ เช่น นโยบายภาษี ซึ่งก็ต้องดูว่าการปล่อยสินเชื่อให้เอสเอ็มอี ควรดำเนินการอย่างไรให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ ถ้าเป็นการปล่อยกู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ แน่นอนว่าใครๆก็อยากได้" นายดอน กล่าว

ขณะที่แนวโน้มการขอจดทะเบียนบริษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนั้น จากที่ ธปท.ติดตามมาพบว่ามีสาเหตุสำคัญ 3 ด้าน คือ 1.จำนวนหนี้เสียในระบบที่มีเพิ่มขึ้น 2.ลักษณะการตัดสินทรัพย์ขายของธนาคาร มีขนาดเล็กและแบ่งเป็นหลายกองมาขึ้น และ 3. มีกาปรับแก้กฎหมายให้เอเอ็มซีที่เป็นต่างด้าวให้ถือครองสินทรัพย์ได้ระยะเวลาหนึ่ง ถือเป็นการบริหารสินทรัพย์ การเพิ่มขึ้นของเอเอ็มซีจึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติ

ธปท.ยังเปิดเผยอีกว่า ไตรมาส 1/59 ธนาคารพาณิชย์มีการกันสำรองสำหรับสินเชื่อเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับคุณภาพสินเชื่อที่อาจด้อยลงตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจ โดยเงินสำรองของระบบธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้น 24.1 พันล้านบาท เป็น 468.6 พันล้านบาท ส่งผลให้สัดส่วนเงินสำรองที่มีต่อเงินสำรองพึงกันเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 160% จากสิ้นปี 58 ที่ 156.3%

ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจที่ยังฟื้นตัวช้า ประกอบกับธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังในการขยายสินเชื่อ ส่งผลให้สินเชื่อขยายตัว 3.3% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยสินเชื่อชะลอลงมากในธุรกิจ SME ขณะที่สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ทรงตัว และสินเชื่ออุปโภคบริโภคขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

สินเชื่อธุรกิจ (68% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัว 1.5% ชะลอลงจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยหดตัวในภาคอุตสาหกรรมลละพาณิชย์เป็นสำคัญ ขณะที่สินเชื่อธุรกิจในภาคบริการลละภาคก่อสร้างขยายตัวเพิ่มขึ้น สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ทรงตัวที่ 0.2% ส่วนหนึ่งจากการชำระคืนหนี้ สำ หรับสินเชื่อ SME ขยายตัว 2.5% ชะลอลงมากจากไตรมาสก่อนที่ 5.6% หลังจากที่มีการเร่งใช้สินเชื่อจากวงเงิน Soft loan ตามมาตรการรัฐในช่วงปลายปี

สินเชื่ออุปโภคบริโภค (32% ของสินเชื่อรวม) ขยายตัว 7.3% เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสิ้นปีก่อนที่ 7.1% จากสินเชื่อรถยนต์ที่กลับมาขยายตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ที่ 1.7% และสินเชื่อส่วนบุคคลขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่สินเชื่อที่อยู่อาศัยทรงตัว สำหรับสินเชื่อบัตรเครดิตขยายตัว 5.4% ชะลอตัวต่อเนื่องจากสิ้นปีก่อนที่ 6.4%

ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรจากการดำเนินงานในไตรมาส 1/59 ที่ 100.1 พันล้านบาท ขยายตัว 15.8% จากระยะเดียวกันปีก่อน จากการบริหารต้นทุนเงินฝาก และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย อาทิ เงินปันผล ค่าธรรมเนียมและบริการที่เพิ่มขึ้น ขณะที่มีกำไรสุทธิ 51.3 พันล้านบาท ขยายตัว 1.7% จากระยะเดียวกันปีก่อน เป็นผลจากค่าใช้จ่ายในการกันสำรองที่เพิ่มขึ้น โดยอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Asset : ROA)เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 0.9% มาอยู่ที่ 1.2% ขณะที่อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin : NIM) ทรงตัวที่ 2.6%

อนึ่ง ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,236.8 พันล้านบาท ลละมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 17.5%


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ