กฟผ.เปิดขายเอกสารประกวดราคาโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา-ท่าเทียบเรือ 19-25 พ.ค.ยื่นซอง ต.ค.59

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 16, 2016 11:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายรัตนชัย นามวงศ์ รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. จะ เปิดจำหน่ายเอกสารประกวดราคาด้านเทคนิคและราคา (Bidding Documents) สำหรับโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเทพา ตั้งแต่ วันที่ 19 พฤษภาคม ถึงวันที่ 21 กรกฎาคม 2559 และกำหนดยื่นซองประกวดราคาในวันที่ 19 ตุลาคม 2559

ส่วนการจ้างก่อสร้างท่าเทียบเรือและระบบสายพานลำเลียงถ่านหิน โครงการโรงไฟฟ้าเทพา จะเปิดจำหน่ายเอกสาร ประกวดราคา ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม – 25 กรกฎาคม 2559 และกำหนดยื่นซองประกวดราคา ในวันที่ 26 ตุลาคม 2559

กฟผ. ขอยืนยันว่า การเปิดจำหน่ายเอกสารประกวดราคา รวมถึงการยื่นซองประกวดราคานี้ ยังไม่มีผลผูกพันทาง กฎหมาย โดย กฟผ. ได้ระบุเงื่อนไขการสงวนสิทธิ์การออกเอกสารสนองรับราคา (Letter of Intent - LOI) ไว้อย่างชัดเจน ว่า จะออกเอกสารสนองรับราคา เมื่อโครงการฯ ได้รับความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) จากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ รวมถึงได้รับอนุมัติจากรัฐบาลให้ดำเนินโครงการอย่างครบถ้วนแล้วเท่านั้น

โครงการโรงไฟฟ้าเทพา              ขายเอกสารประกวดราคา       ยื่นซองประกวดราคา       พิจารณาคัดเลือก
                                                                                   ผู้รับเหมา
1.โรงไฟฟ้าเทพา                   19 พ.ค. – 21 ก.ค. 2559       19 ต.ค. 2559          6 เดือน
2.ท่าเทียบเรือและสายพานลำเลียงถ่านหิน 25 พ.ค. – 25 ก.ค. 2559       26 ต.ค. 2559          6 เดือน

นายรัตนชัย กล่าวต่อไปว่า ตามที่ได้ระบุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP2015) โครงการโรง ไฟฟ้าถ่านหินเทพา จะต้องเริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2564 หรืออีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นใน อนาคต ดังนั้น เพื่อให้โรงไฟฟ้าเทพาสามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ตามแผน กฟผ. จึงต้องเริ่มดำเนินการจัดหาผู้รับเหมาเพื่อออก แบบ จัดหาอุปกรณ์ และก่อสร้างโรงไฟฟ้า คู่ขนานไปกับขั้นตอนการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)

ทั้งนี้ โครงการโรงไฟฟ้าเทพา จะใช้เทคโนโลยีสะอาด (Clean Technology) ประเภท Ultra Super Critical เพื่อให้การผลิตไฟฟ้ามีประสิทธิภาพสูง และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ส่วน โครงการท่าเทียบเรือและระบบสายพานลำเลียงถ่านหิน สำหรับโรงไฟฟ้าเทพานั้น จะเป็นระบบปิดทั้งหมด จึงไม่มีผลกระทบต่อระบบ นิเวศและวิถีชีวิตของชุมชน

สำหรับกระบวนการการคัดเลือกผู้รับเหมา ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนหลัก คือ 1) กฟผ. จัดทำเอกสารประกวดราคา 2) ขายเอกสารประกวดราคา - ยื่นซองประกวดราคา 3) กฟผ. พิจารณาข้อเสนอและคัดเลือกผู้รับเหมา ซึ่งในแต่ละขั้นตอนจะใช้ เวลาประมาณ 6 เดือน รวมเวลาทั้งหมดประมาณ 1.5 - 2 ปี จากนั้นจึงเป็นช่วงของการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ซึ่งใช้เวลาประมาณ 4 ปี สำหรับโรงไฟฟ้าประเภทพลังความร้อน ทั้งนี้ ด้วยเวลาที่ค่อนข้างจำกัดนี้ กฟผ. จึงดำเนินการคู่ขนานกันไป แต่หากรายงาน EHIA ไม่ผ่านการพิจารณา และ ครม. ไม่อนุมัติการดำเนินโครงการ กฟผ. จะยกเลิกการประกวดราคาในครั้งนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ