(เพิ่มเติม) สภาพัฒน์ คงคาดการณ์ศก.ไทยปี 59 โต 3.3% แต่ปรับกรอบคาดการณ์เป็น 3.0-3.5% จากเดิม 2.8-3.8%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 16, 2016 11:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแหล่งชาติ (สศช.) ยังคงคาดการณ์ค่ากลางอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ไทยในปี 59 ขยายตัวที่ 3.3% ซึ่งเร่งตัวขึ้นจาก 2.8% ในปี 58 แต่ได้ปรับกรอบช่วงคาดการณ์ใหม่มาที่ 3.0-3.5% จากกรอบเดิมที่ 2.8-3.8% เนื่องจากมั่นใจว่าเศรษฐกิจในปีนี้คงมีโอกาสจะขยายตัวในระดับต่ำสุดและสูงสุดตามกรอบคาดการณ์เดิมลดลง

"รอบที่แล้วที่เราแถลงช่วงต้นปี เป็นการแถลงท่ามกลางความผันผวนและความเสี่ยงหลายอย่าง กรอบ GDP เลยกว้างอยู่ที่ 2.8-3.8% แต่ช่วงนี้หลังจากเห็นการเติบโตของเศรษฐกิจไตรมาสแรก เราจึงสามารถประมาณการด้วยความมั่นใจในช่วงที่แคบลงมาที่ 3.0-3.5% และมีโอกาสที่ไตรมาสอื่น ๆ ที่เหลือของปีนี้ GDP อาจจะสูงกว่าไตรมาสแรก"นายปรเมธี กล่าว

ทั้งนี้ สภาพัฒน์ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกขยายตัว 3.2% ใกล้เคียงกับค่ากลาง 3.3% ของช่วงประมาณการการขยายตัวทั้งปีของเดิมที่ 2.8-3.8% ประกอบกับโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวเกิน 3.5% ลดลงเพราะข้อจำกัดของเศรษฐกิจโลกต่อภาคการส่งออกที่มีความชัดเจนมากขึ้น ขณะเดียวกันโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวต่ำกว่า 3.0% ก็มีน้อยมากเพราะไตรมาสแรกขยายตัวเกิน 3.0%

ประกอบกับ ยังมีปัจจัยบวกมาสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งรวมถึงแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตภาคเกษตรในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งคาดว่าจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการสิ้นสุดลงของปรากฏการณ์เอลนิโญ่ ดังนั้น สศช. จึงปรับช่วงการประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้แคบลงจากการขยายตัว 2.8-3.8% เป็น 3.0-3.5% โดยมีค่ากลางการประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 3.3 เท่ากับการประมาณการครั้งที่ผ่านมา

"ปรับประมาณการมาอยู่ช่วง 2.8-3.8% เมื่อไตรมาสแรกขยายตัวได้ 3.2% ก็ทำให้เรามั่นใจขึ้น เศรษฐกิจโลกคลายตัวไปจากที่เป็นห่วงในช่วงต้นปี แต่ส่งออกปีนี้ปรับเป็นติดลบ 1.7% เพราะไตรมาสแรกเป็นลบอยู่ แต่ค่าเงินบาทยังไม่ห่วง ยังเป็นบวกต่อการส่งออก สนับสนุนสภาพคล่องต่าง ๆ ในประเทศได้"นายปรเมธี กล่าว

ปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวต่อเนื่องจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐที่ขยายตัว แรงขับเคลื่อนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่ได้จัดทำเพิ่มเติมในเดือน ก.ย.58-มี.ค.59 จำนวนนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์สูงต่อเนื่อง ราคาน้ำมันที่คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำ และ แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของการผลิตภาคเกษตรในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะลดลง 1.7% การบริโภคของครัวเรือนและการลงทุนรวมขยายตัว 2.3% และ 4.2% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วง 0.1-0.6% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 9.4% ของ GDP

สภาพัฒน์ ระบุว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปียังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสแรก โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการขยายตัวของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ แรงขับเคลื่อนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมการขยายตัวในเกณฑ์สูงของจำนวนนักท่องเที่ยว รวมทั้งราคาน้ำมันที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำและแนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นของสถานการณ์ภัยแล้งในช่วงครึ่งหลังของปี

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจภาคเอกชนและเศรษฐกิจในภาพรวมยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวในเกณฑ์ต่ำ การลดลงของราคาสินค้าในตลาดโลก รวมทั้งค่าเงินบาทที่ยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนและแข็งค่าและสถาบันการเงินยังมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง

ด้านศรษฐกิจโลกในปี 59 มีแนวโน้มขยายตัวประมาณ 3.2% ปรับตัวดีขึ้นช้าๆ จากการขยายตัวในเกณฑ์ต่ำ 3.0% ในปี 58 และเป็นการปรับลดการคาดการณ์จาก 3.3% ในการประมาณการครั้งก่อนเนื่องจากเศรษฐกิจโลกในไตรมาสแรกยังชะลอตัวจากไตรมาสสุดท้ายของปี 58 และส่งผลให้การฟื้นตัวล่าช้าออกไป สถานการณ์เศรษฐกิจสำคัญๆ โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และประเทศสำคัญ ๆ ในเอเชียขยายตัวต่ำกว่าการคาดการณ์และในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวอย่างล่าช้า

"ปัจจัยสำคัญที่เป็นข้อจำกัดในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คือ เศรษฐกิจโลก แต่ว่าตอนนี้ความเสี่ยงก็ลดลงมาก แต่ถึงอย่างไรก็ดี การเติบโตยังช้า คงต้องตามดูกันต่อไป เพราะจะมีความเชื่อมโยงไปถึงราคาสินค้าเกษตรด้วย" เลขาธิการ สภาพัฒน์ กล่าว

ประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 59 ควรให้ความสำคัญกับ การเบิกจ่ายงบประมาณและการดำเนินโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของภาครัฐให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ ประสิทธิภาพการดำเนินการตามมาตรการภายใต้กรอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้มีการอนุมัติไปแล้ว การดูแลเงินบาทไม่ให้ผันผวนมากและเคลื่อนไหวสอดคล้องกับเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ การฟื้นฟูเกษตรกรและเตรียมเกษตรกรให้มีความพร้อมสำหรับปีการเพาะปลูก 2559/2560 โดยสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกฤดูกาลใหม่ การดูแลราคาปัจจัยการผลิต การเริ่มต้นการประกันภัยพืชผล และการรวมแปลงการผลิต เป็นต้น

การสนับสนุนการฟื้นตัวและการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชน โดยการผลักดันและส่งเสริมให้มีการใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติแล้ว รวมทั้งสร้างความเข้มแข็งอุตสาหกรรมปัจจุบันและการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายสำหรับอนาคต (S-Curve/New S-Curve) การดูแลและขับเคลื่อนภาคการส่งออกตามยุทธศาสตร์การส่งออกของไทยปี 59 ของกระทรวงพาณิชย์ และ การดูแลภาคการท่องเที่ยว โดยการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อจูงใจนักท่องเที่ยว และการแก้ไขปัญหาในภาคการท่องเที่ยว เช่น การแก้ไขปัญหาการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว และการดูแลความปลอดภัย รวมทั้งการแก้ปัญหาความแออัดและความสะอาดของสถานที่ท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง

สมมติฐานอื่น ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ค่าเงินบาทเฉลี่ยทั้งปี 59 คาดว่าจะอยู่ในช่วง 35.5-36.5 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากเฉลี่ย 34.29 บาท/ดอลลาร์ในปี 58 และเท่ากับสมมติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ช่วงที่เหลือของปีค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ภายใต้แรงกดดันของการแข็งค่า ก่อนที่จะเริ่มอ่อนค่าลงในช่วงที่สัญญาณการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ จะมีความชัดเจนมากขึ้นในช่วงกลางปีถึงครึ่งปีหลัง

ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยคาดว่าจะอยู่ในช่วง 35-45 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มจากสมมติฐานเดิมที่ 32-42 ดอลลาร์/บาร์เรล ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์ คาดว่าจะลดลง (-1.5)-(-1.0)% ปรับลดจากสมมติฐานการลดลง (-1.0)-0.0% จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 33.0 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10.4% จากปี 58 และปรับเพิ่มจากประมาณการครั้งก่อน ในขณะที่รายรับการท่องเที่ยวคาดไว้ที่ 1.69 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.6% จาก 1.52 ล้านล้านบาทในปี 58 เนื่องจากไตรมาสแรกขยายตัวได้สูงกว่าการคาดและมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี การเบิกจ่ายงบประมาณคาดว่าอัตราเบิกจ่ายปีประมาณ 2559 อยู่ที่ 92.9% ของวงเงินงบประมาณ

"ในช่วงที่เหลือของปีนี้คงต้องให้ความสำคัญกับการเบิกจ่ายงบประมาณ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การดูแลค่าเงินบาทท่ามกลางภาวะที่ประเทศขนาดใหญ่ใช้นโยบายการเงินที่ผันผวน การเตรียมความเข้มแข็งให้แก่ภาคเกษตร การลงทุนภาคเอกชนที่จะต้องสร้างโอกาสการลงทุนใหม่ ทั้งในส่วนของ Start up และ S curve ซึ่งจะเป็นตัวช่วยหนุนเศรษฐกิจได้ และด้านการส่งออก การท่องเที่ยว ที่จะเป็นกำลังสำคัญของเศรษฐกิจไทยต่อไป" นายปรเมธีกล่าว

เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวถึงความจำเป็นของรัฐบาลในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมว่า จนถึงปัจจุบันรัฐบาลได้ทยอยประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ เป็นแพ็คเกจออกมา และขณะนี้ยังมีกรอบวงเงินที่เหลือสำหรับการเร่งผลักดันเศรษฐกิจในช่วงที่เหลืออีกกว่าแสนล้านบาท ตลอดจนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ต่างๆ ที่จะเริ่มออกมาในปลายปีนี้ ดังนั้นมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีอยู่ในปัจจุบันถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจไทยในขณะนี้

"ตามที่ท่านรองนายกฯ สมคิด เคยบอกว่าตอนนี้ภาครัฐจะมาให้น้ำหนักความสำคัญกับการปฏิรูปมากขึ้น ทั้งการปฏิรูปโครงสร้างการผลิต การส่งเสริมการลงทุนใหม่ๆ ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่รัฐบาลพยายามจะขับเคลื่อนในช่วงต่อไป แต่ในส่วนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเอง คงต้องรอดูจังหวะ แต่ ณ จุดนี้ถือว่ามีเพียงพอแล้ว" นายปรเมธี กล่าว

ส่วนความจำเป็นที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศหรือไม่นั้น เลขาธิการสภาพัฒน์ มองว่า เรื่องอัตราดอกเบี้ยคงจะต้องรอดูภาวะแวดล้อมหลายๆ อย่าง ทั้งการใช้มาตรการทางการเงินของสหรัฐ และประเทศอื่นๆ รวมถึงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ดังนั้นในกรณีของอัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยนจะต้องพิจารณาจากปัจจัยอื่นๆ ประกอบกันไป ไม่เฉพาะแต่เศรษฐกิจของไทยเท่านั้น

สำหรับการส่งออกของไทยในปีนี้ที่ล่าสุด สภาพัฒน์ปรับลดลงมาอยู่ที่ -1.7% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตได้ 1.2% นั้น เนื่องจากมีการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลกในปีนี้ลงเล็กน้อยจากเดิม 3.3% มาเป็น 3.2% และปรับสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบใหม่ ซึ่งเดิมคาดว่าจะเพิ่มขึ้นแรงจากช่วงต้นปี รวมทั้งเศรษฐกิจสหรัฐที่เดิมคาดว่าจะมีความเข้มแข็งจนสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ ซึ่งสมมติฐานทั้ง 2 ตัวนี้ต้องชะลอออกไปก่อน จึงทำให้ต้องปรับลดการเติบโตของการส่งออกไทยลงมา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ