นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เห็นชอบแนวทางการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไบโอดีเซล (B100) โดยให้มีการนำร่องการใช้น้ำมันไบโอดีเซล บี10 (B10) ในหน่วยงานราชการ,ทหาร พร้อมขอความร่วมมือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้ B10 เป็นเชื้อเพลิงทางเลือกอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีหัวจ่ายในสถานีบริการน้ำมันภายในปี 61 โดยจะนำเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นต่อไป
ทั้งนี้ แนวทางการเพิ่มสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซลดังกล่าว เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการส่งเสริมการผลิตการใช้ไบโอดีเซล เป็น 14 ล้านลิตร/วัน ภายในปี 79 ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือกพ.ศ. 2558 - 2579 (AEDP 2015) และข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีที่มอบหมายให้กระทรวงพลังงานเร่งดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันปาล์มในน้ำมันไบโอดีเซล สำหรับรถยนต์ชนิดต่าง ๆ ให้เป็นรูปธรรม กระทรวงพลังงานจึงได้จัดทำแนวทางการเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันไบโอดีเซลให้สูงขึ้น โดยมีการดำเนินงาน ดังนี้
ขยายผลการศึกษาเพื่อปรับปรุงคุณภาพการผลิตไบโอดีเซล ด้วยเทคโนโลยี H-FAME สู่เชิงพาณิชย์ รองรับการเพิ่มสัดส่วนการใช้ไบโอดีเซลในสัดส่วนที่สูงขึ้น ตลอดจนการทดสอบการใช้งานในกลุ่มต่างๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น โดยนำร่องการใช้ B10 ในหน่วยการราชการ,ทหาร โดยพร้อมติดตามและประเมินผล
กำหนดมาตรฐานน้ำมัน B10 เพื่อสอดรับกับมาตรการด้านภาษีสรรพสามิตของกระทรวงการคลัง และรองรับการจำหน่าย B10 เป็นทางเลือก ,กำหนดโครงสร้างราคาของ B10 เพื่อสนับสนุน,จูงใจให้เกิดการใช้อย่างเป็นรูปธรรม ,พิจารณาโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน B10 ในกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะรถบรรทุกส่วนบุคคล เพื่อจูงใจผู้ผลิตรถยนต์และผู้ใช้ โดยให้มีผลก่อนการกำหนดให้มีการใช้ B10 ภายในปี 61 ,ส่งเสริมการผลิตรถยนต์ที่ใช้ B10 เป็นกรณีพิเศษ และสนับสนุนการใช้และการจำหน่ายน้ำมัน B10 เป็นเชื้อเพลิงทางเลือก
นายทวารัฐ กล่าวอีกว่า ที่ประชุมกบง. รับทราบความก้าวหน้าการลอยตัวราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ตามมติ กบง. เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2559 ที่ให้ลอยตัวราคา NGV แบบเงื่อนไข โดยราคาขายปลีกก๊าซ NGV ภายในรัศมี 50 กิโลเมตร จากสถานีหลักตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2559 ถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2559 อยู่ที่ 12.63 บาท/กิโลกรัม (กก.) หรือลดลง 0.73 บาท/กก. เมื่อเทียบกับเดือนเมษายนซึ่งอยู่ที่ 13.36 บาท/กก. ทั้งนี้ คาดว่าหากราคาเป็นไปตามโครงสร้างในปัจจุบัน แนวโน้มราคา NGV น่าจะปรับลงต่ำสุดในปีนี้ที่ระดับ 11.85 บาท/กก.ในช่วงเดือนพ.ย.
โดยมองแนวโน้มราคา NGV ยังอยู่ในช่วงขาลงต่อเนื่องอีก 6 เดือน ขณะที่ราคาน้ำมันดิบในขณะนี้ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น สนพ.คาดการณ์ราคาดูไบ 35-55 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดยราคาเฉลี่ยทั้งปี 45 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล นอกจากนี้ที่ประชุมกบง. เห็นชอบให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมในการตรวจสอบด้านเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า สำหรับโครงการนำร่อง (Pilot Project) การส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟอย่างเสรี ในกลุ่มบ้านพักอาศัยและอาคารภาคธุรกิจ จำนวน 100 เมกะวัตต์ (MW) เพื่อจูงใจให้มีผู้เข้าร่วมโครงการมากขึ้น โดยขอความร่วมมือให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ทั้งการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการยกเว้นค่าธรรมเนียมฯ ที่เรียกเก็บจากผู้ผลิตไฟฟ้า เฉพาะกลุ่มที่เชื่อมต่อที่ระดับแรงดันต่ำกว่า 12 กิโลโวลต์ สำหรับบ้านอยู่อาศัย ค่าธรรมเนียมฯ อยู่ที่ 10,000 บาท/ราย และสำหรับอาคารธุรกิจหรือโรงงาน ค่าธรรมเนียมฯ อยู่ที่ 15,000 บาท/ราย ซึ่งคิดเป็นค่าใช้จ่ายรวมประมาณ 50 ล้านบาท ส่วนกรณีการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (เอสพีพี) ประเภทโคเจนเนอเรชั่นนั้น ทาง กบง.ได้ข้อสรุปแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ ซึ่งจะเสนอ กพช.ต่อไป