นางปรียนาถ สุนทรวาทะ นายกสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน เปิดเผยว่า จากการที่สมาคมฯได้ประชุมหาข้อสรุปร่วมกับหน่วยงานภาครัฐกรณีการต่อสัญญากับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) กลุ่มที่ 1 จำนวน 25 ราย ซึ่งจะสิ้นสุดอายุสัญญาขายไฟฟ้าในปี 2560-2568 โดยล่าสุดทางสมาคมฯได้ยื่นข้อเสนอยอมปรับลดปริมาณซื้อขายเหลือ 30 เมกะวัตต์/แห่ง จากปัจจุบันที่ส่วนใหญ่มีปริมาณซื้อขายอยู่ระดับราว 90 เมกะวัตต์/แห่ง ซึ่งเป็นการปรับลดกำลังผลิตรวมของทั้ง 25 ราย ลงถึง 70% คือจาก 1,787 เมกะวัตต์ เหลือ 560 เมกะวัตต์ หากยังไม่สามารถหาข้อสรุปในด้านราคาได้
เงื่อนไขที่ทางภาครัฐกำหนดในเบื้องต้นคือการรับซื้อที่ราคา โดยใช้เกณฑ์ต่ำสุดของราคารับซื้อจากโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) ซึ่งมีกลไกและการบริหารขนาดใหญ่ต่างจาก SPP เพราะ IPP นับเป็นโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ทำหน้าที่ผลิตและขายกระแสไฟฟ้าทั้งหมดป้อนให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
ขณะที่ SPP มีบทบาทและกลไกตั้งต้นเพื่อส่งเสริมและสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น ข้อกำหนดของ SPP โดยเฉพาะในกลุ่ม 25 ราย คือ เป็นโรงไฟฟ้าที่มีกำลังผลิตขนาด 100-120 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมหลักของประเทศ บริหารจัดการให้เกิดการใช้เชื้อเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด จึงเป็นที่มาของข้อกำหนดการใช้ไฟฟ้าด้วยระบบพลังความร้อนร่วม (โคเจนเนอเรชั่น) จากก๊าซธรรมชาติ ด้วยข้อกำหนดดังกล่าวจึงทำให้ต้นทุนในการผลิตและบริหารจัดการของโรงไฟฟ้ากลุ่ม SPP สูงกว่ากลุ่ม IPP
"หากเปรียบเทียบต้นทุนต่อหน่วยระหว่าง IPP และ SPP จะเห็นได้ว่า SPP จะมีภาระต้นทุนที่มากกว่าทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสายส่ง กำลังคน จนถึงการเดินเครื่อง เนื่องจาก IPP สามารถเดินเครื่องได้เต็มกำลังผลิต ขณะที่ SPP จะเดินเครื่องตามช่วงเวลา และตามความต้องการของลูกค้าที่เป็นภาคอุตสาหกรรม"นางปรียนาถ กล่าว
นางปรียนาถ กล่าวว่า สมาคมฯจึงอยากให้ภาครัฐทบทวนเงื่อนไขราคาที่กำหนดใหม่ เนื่องจากเป็นการการคำนวณบนโจทย์และฐานกลไกที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งสมาคมฯ คงต้องประชุมหารือเพื่อหาทางออกลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทั้งต่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น เพราะต้องลงทุนในส่วนของการป้องกันความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากกรณีไฟตก ไฟดับ ในระบบผลิต ทั้งต้องจัดหาพื้นที่จัดเก็บและติดตั้ง ระบบผลิตไอน้ำ พลังความร้อนเพิ่มเติม
นอกจากนี้ อาจกลายเป็นปัจจัยที่ผลักให้นักลงทุนตัดสินใจเปลี่ยนหรือโยกย้ายการลงทุนออกจากประเทศไทย กระทบเศรษฐกิจเป็นวงกว้าง จึงอยากให้ภาครัฐนำบทบาทและกลไกของ SPP ที่มีต่อเศรษฐกิจมาประกอบการพิจารณาอีกครั้ง เนื่องเพราะโรงไฟฟ้า SPP กลุ่มที่ 1 จำนวน 25 รายที่กำลังจะสิ้นสุดอายุสัญญาล้วนตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมหลักของประเทศทั้งสิ้น
ขณะที่ล่าสุดวันนี้นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และโฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้พิจารณาเรื่องการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP และมีข้อสรุปแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียด และจะได้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ต่อไป
อนึ่ง ก่อนหน้านี้ทางสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนยื่นข้อเสนอปรับลดปริมาณซื้อขายไฟฟ้าให้กับกฟผ.ตามสัญญาลง 50% และลดราคาซื้อขายไฟฟ้าลดลงจากเดิม โดยจะปรับลดในส่วนของ capacity charge ลง 30% และลดอัตรา energy charge ลง 3% ขึ้นอยู่กับอัตราค่าก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าด้วย โดยเมื่อเทียบอัตราค่าก๊าซฯปัจจุบันที่ระดับ 260 บาท/ล้านบีทียู ก็จะทำให้ได้ค่าไฟฟ้าที่ปรับลดมาอยู่ที่ระดับ 2.88 บาท/หน่วย จากสัญญาปัจจุบันที่ราคาค่าไฟฟ้าอยู่ที่ราว 3.8 บาท/หน่วย
อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของทางสมาคมฯยังคงแตกต่างจากมติกพช.ก่อนหน้านี้ที่ให้กลุ่ม SPP ที่จะหมดอายุปรับลดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้าลงเหลือ 20% หรือคงเหลือราว 18 เมกะวัตต์/แห่ง และมีราคาค่าไฟฟ้าไม่เกินของกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ที่ปัจจุบันอยู่ที่กว่า 2 บาท/หน่วย เนื่องจากรัฐบาลไม่ต้องการที่จะรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP เข้าระบบมากนักเพราะจะมีผลทำให้ค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ที่สูงขึ้น โดยรัฐบาลต้องการให้ SPP ขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมเป็นหลักแทนการขายไฟฟ้าให้กฟผ.