นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผยว่า ในปีนี้ไทยจะส่งออกข้าวได้ตามเป้าหมาย 9.5 ล้านตัน และกลับมาเป็นผู้ส่งออกข้าวที่มีปริมาณส่งออกมากเป็นอันดับ 1 ของโลก แซงหน้าอินเดีย ที่ปีก่อนเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ด้วยปริมาณ 10.9 ล้านตัน แต่ปีนี้คาดจะส่งออกได้เพียง 8-8.5 ล้านตันเท่านั้น เพราะภัยแล้งทำให้ผลผลิตข้าว และสต๊อกข้าวลดลง ขณะที่เวียดนามคาดปีนี้จะส่งออกได้ 6.7-7 ล้านตัน
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-3 พ.ค.59 ไทยส่งออกข้าว 3.75 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 30.75% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นปริมาณส่งออกสูงสุดเป็นอันดับ 1 ของโลก มากกว่าอินเดียที่ส่งออกได้ 3.23 ล้านตัน ลดลง 20.78% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เวียดนามส่งออกได้ 2.16 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 14% และปากีสถานส่งออกได้ 1.72 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 14.94%
"สาเหตุที่ไทยส่งออกข้าวสูงมาก เพราะมีการส่งมอบข้าวตามคำสั่งซื้อแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่มีปริมาณรวมถึง 1 ล้านตัน หลังเดือนพ.ค.นี้ สัญญาส่งมอบดังกล่าวจะหมดลง ปริมาณการส่งออกข้าวจะค่อยๆ กลับสู่ภาวะปกติ แต่ช่วงปลายไตรมาส 2 – 3 ปีนี้ ตลาดจะกลับมาดีขึ้น จากผู้ซื้อรายใหญ่ๆ เช่น อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ จะเริ่มนำเข้าข้าว"
ส่วนในวันนี้ที่ทางกรมการค้าต่างประเทศ เปิดให้ผู้สนใจเข้าร่วมประมูลข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลเป็นการทั่วไป ครั้งที่ 3/59 ปริมาณ 1.2 ล้านตัน ยื่นเอกสารเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติ และได้รับความสนใจจากผู้ส่งออก โรงสี และค้าข้าวในประเทศจำนวนมาก เพราะต้องการหาซื้อข้าวในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด ทำให้ราคาข้าวในภาพรวมปรับตัวสูงสุดในรอบ 2 ปี โดยราคาส่งออกข้าวหอมมะลิอยู่ที่ตันละ 795 เหรียญสหรัฐฯ ข้าวเหนียวตันละ 900 เหรียญฯ และข้าวขาวตันละ 439 เหรียญฯ ซึ่งหลังจากนี้ รัฐบาลควรเร่งระบายข้าวอีก 2-3 ครั้ง ก่อนที่ผลผลิตฤดูใหม่จะออกสู่ตลาด
ด้านนางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า ขณะนี้ตลาดมีความต้องการข้าวเพิ่มขึ้น หลังจากที่ผลผลิตข้าวเปลือกในประเทศออกสู่ตลาดหมดแล้ว และแนวโน้มผลผลิตน่าจะลดลง จากปัญหาภัยแล้ง
ส่วนการติดตามทวงค่าเสียหายจากการขายข้าวในรูปรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) จำนวน 4 สัญญา ปริมาณข้าว 6.2 ล้านตัน มูลค่าความเสียหายประมาณ 2 หมื่นล้านบาท กับนักการเมืองและข้าราชการรวม 6 คน กรมฯ อยู่ระหว่างรอคำตอบจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เป็นผู้ดำเนินการส่งหนังสือเรียกค่าเสียหายกับบุคคลที่เกี่ยวข้องว่าควรเป็นกระทรวงพาณิชย์หรือหน่วยอื่นๆ หรือจะต้องแยกการดำเนินการระหว่างข้าราชการเมืองกับข้าราชการประจำ หรือจะดำเนินการไปพร้อมกัน และประเด็นการนับอายุความว่าควรเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อไร เพราะตามกฎหมายกำหนดไว้ 2 ปี เชื่อว่า กฤษฎีกาจะให้คำตอบเร็ว จากนั้นจะเร่งดำเนินการในทันที