นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กล่าวว่า กพร.ได้จัด“โครงการส่งเสริมอุตสาหกรรมแร่ให้มีมาตรฐานสากลเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR-DPIM)" ประจำปี 2559 ขึ้น เพื่อสอดรับกับยุทธศาสตร์ในการผลักดันและส่งเสริมให้สถานประกอบการอุตสาหกรรมแร่มีความรับผิดชอบต่อสังคมเพิ่มขึ้น
อีกทั้งยังต้องการให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแร่สามารถประกอบการอย่างต่อเนื่องและอยู่ร่วมกับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ ตลอดจนสร้างความเข้าใจและก่อให้เกิดการยอมรับในความจำเป็นของการนำทรัพยากรแร่มาใช้ประโยชน์ ซึ่งจะส่งผลให้ผลิตและใช้แร่ได้อย่างยั่งยืนก่อให้เกิดความมั่นคงในอุตสาหกรรมแร่ในระยะยาวต่อไป
สำหรับในปี 2559 นี้ กพร. ตั้งเป้าส่งเสริมสถานประกอบการให้สามารถนำมาตรฐานดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้เพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 10 แห่ง จากที่ผ่านมาตลอดการดำเนินโครงการฯ มีสถานประกอบการเข้าร่วมโครงการฯ และได้รับการส่งเสริมให้สามารถนำมาตรฐานสากลเพื่อความรับผิดชอบต่อสังคมไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้แล้วจำนวน 71 แห่ง
โครงการดังกล่าวได้กำหนดมาตรฐานความรับผิดชอบของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมต่อสังคม ประกอบด้วย 7 หัวข้อหลัก ได้แก่ การกำกับดูแลองค์กร หลักสิทธิมนุษยชน การปฏิบัติด้านแรงงาน ด้านสิ่งแวดล้อม การดำเนินงานอย่างเป็นธรรม ประเด็นผู้บริโภค การมีส่วนร่วมและการพัฒนาชุมชน โดยทั้ง 7 หลักดังกล่าวสามารถพิจารณาจากหลายองค์ประกอบ อาทิ ผู้ประกอบการมีความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นลายลักษณ์อักษร ผู้ประกอบการมีการกำหนดแนวทางปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชน หลีกเลี่ยงการละเมิดลิขสิทธิ์ แก้ไขข้อร้องเรียน รวมถึงให้ความเป็นธรรมแก่ลูกจ้าง ผู้ประกอบการควรมีการจ้างงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ประกอบการมีการพัฒนาและปรับปรุงระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กร เพื่อลดผลกระทบจากมลพิษ ผู้ประกอบการมีการส่งเสริมการต่อต้านการคอร์รัปชั่น การแข่งขันอย่างเป็นธรรม ฯลฯ
นายชาติ กล่าวว่า อุตสาหกรรมเหมืองแร่เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจไทยในฐานะที่เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำที่มีความสำคัญมากสำหรับภาคการผลิต โดยผลผลิตจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่กว่าร้อยละ 70 ถูกใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆภายในประเทศ สร้างมูลค่ากว่า 4 ล้านล้านบาทต่อปี ในขณะเดียวกันอุตสาหกรรมเหมืองแร่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ทั้งในแง่ของการเป็นอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรแร่ ซึ่งหากไม่มีการกำกับดูแลที่ดีจะส่งผลกระทบต่อชุมชน สร้างความวิตกกังวลของชุมชนโดยรอบ โดยการแก้ไขปัญหานอกจากจะต้องกำกับดูแลการประกอบการให้เกิดความปลอดภัย สร้างความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะต้องสร้างความตระหนักและยอมรับการประกอบการเหมืองแร่ให้แก่ชุมชนในพื้นที่ รวมทั้งยังจะต้องส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างจริงจังและให้ชุมชนได้รับความคุ้มครองและได้รับประโยชน์จากการประกอบการในพื้นที่อีกด้วย