นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวว่า ธนาคารจะมีการพิจารณาปรับเพิ่มประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP) ปีนี้เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัวได้ 3% ซึ่งมาจากปัจจัยเรื่องการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญในเดือนส.ค.นี้
หากผลประชามติออกมาว่ารับร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น และมีความหวังว่าจะมีการเดินหน้าตามแผนโรดแมปซึ่งจะช่วยกระตุ้นการบริการและการลงทุน
สำหรับอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1/59 ที่ออกมาปรากฏว่าสามารถขยายตัวได้ดีเกินที่คาดการณ์ไว้ที่ 3.2% จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยปัจจัยหลักยังมาจากการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของภาครัฐ ขณะที่ปัจจัยหนุนทางเทคนิคอีกตัว คือ การที่ส่งออกไทยในรูปเงินบาทขยายตัวได้ดี ขณะที่การนำเข้าหดตัวมากขึ้น ทำให้โดยสุทธิแล้วยังหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งปัจจัยดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าเงินบาทที่อ่อนค่ามีความสำคัญกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้
"GDP ไตรมาสแรกที่ผ่านมา สภาพัฒน์ประกาศเติบโต 3.2% ถือเป็นตัวเลขที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า แต่หากเทียบกับประเทศอื่น ถือว่าไทยยังเจอความท้าทายอยู่ เพราะรายได้ต่อหัวของประชากรไทยยังต่ำกว่าหลายประเทศ โดยหาก GDP จะเติบโตมากกว่า 3% เราต้องมีการปฏิรูปการผลิตโดยเน้นสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มและนวัตกรรม เพราะหาก GDP เรายังโตแค่ 3% หลายประเทศจะแซงหน้าเรา โดยเฉพาะเวียดนาม"นายกอบสิทธิ์ กล่าว
สำหรับการส่งออกของไทยในปีนี้ยังเป็นปัจจัยกดดันต่อการขยายตัวเศรษฐกิจไทย โดยคาดการณ์ว่าการส่งออกจะไม่ขยายตัวหรืออยู่ที่ 0% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ขณะเดียวกันพบว่าในหลายธุรกิจสินค้าคงคลังมีจำนวนน้อยลงตามการผลิตเพื่อการส่งออกที่ยังขยายตัวต่ำ และไม่มั่นใจต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในอนาคต
ส่วนแนวโน้มเงินบาทยังมีแนวโน้มอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ประเมินว่าไตรมาส 2/59 ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 35.50 บาท/ดอลลาร์ และสิ้นปีนี้ค่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวอยู่ที่ 37 บาท/ดอลลาร์ โดยเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าเมื่อเที่ยบกับค่าเงินบาท เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนก.ค.นี้ และในไตรมาส 4/59 อีกครั้ง ขณะเดียวกันยังต้องติดตามผลการทำประชามติของสหราชอาณาจักรในวันที่ 23 มิ.ย.นี้ว่า จะออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปหรือไม่ ซึ่งจะสร้างความเสี่ยงเพิ่มเติมให้กับตลาดการเงิน และอาจจะกระทบมากกว่ากรณีของกรีซ เนื่องจากอังกฤษมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่มากประเทศหนึ่งในยูโรโซน
สำหรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น ธนาคารฯ ประเมินว่าจากตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกที่ประกาศออกมาดี จะช่วยลดแรงกดดันต่อการลดอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ออกไป เนื่องจากก่อนหน้านี้มีแรงกดดันให้ กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง แต่ กนง.มองว่าการลดดอกเบี้ยลงอีกก็ยังไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง
"หาก กนง.จะลดอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง ก็จะต้องพิจารณาถึงเฟดด้วย ถ้าหากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯแล้ว จะเป็นแรงผลักดันให้กนง.ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามในอนาคต"นายกอบสิทธิ์ กล่าว
ส่วนกรณีกระแสเงินทุนจากต่างชาติที่ช่วงนี้ชะลอตัว และมีกระแสเงินทุนไหลออกจากตลาดหุ้นและตราสารหนี้จนมีเงินทุนจากต่างชาติเหลืออยู่ที่ 7.6 หมื่นล้านบาท จากช่วงก่อนหน้านี้ที่มีเม็ดเงินอยู่ที่ 1.27 แสนล้านบาท เกิดจากแรงเทขายทำกำไรของต่างชาติ เนื่องจากได้มีกำไรจากส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ย แต่มองแนวโน้มกระแสเงินทุนของต่างชาติคาดว่าช่วงนี้จะยังนิ่งๆ เพื่อรอดูผลการทำประชามติของสหราชอาณาจักรกรณีออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในวันที่ 23 มิ.ย.นี้ก่อน ประกอบกับยังต้องรอดูการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ โดยทั้ง 2 ปัจจัยจะส่งผลต่อกระแสเงินทุนของต่างชาติจะไหลเข้ามามากขึ้นหรือไม่ในช่วงที่เหลือของปีนี้