นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีที่กรมธนารักษ์เปิดคัดเลือกเอกชนผู้สนใจยื่นซองประมูลการพัฒนาพื้นที่เพื่อการลงทุนในที่ราชพัสดุเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พื้นที่ คือ จ.มุกดาหาร จ.หนองคาย และ จ.ตราด นั้น ล่าสุดจนถึงวันนี้ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่เปิดให้เอกชนเข้ามาซื้อซองประกวดราคา พบว่า มีบริษัทเอกชนที่สนใจทั้งสิ้น 19 ราย แบ่งเป็น เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษหนองคาย มีผู้ซื้อซอง 10 ซอง, เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร มีผู้ซื้อซอง 10 ซอง และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด มีผู้ซื้อซอง 11 ซอง ดังนี้
1. บมจ. พร็อพเพอร์ตี้ เฟอร์เฟค (PF) สนใจลงทุนพัฒนาพื้นที่ ใน จ.ตราด 2.บริษัท โกลเบิล บิสสิเนท คอนซัลแทน์ส จำกัด สนใจลงทุนพัฒนาพื้นที่ใน จ.หนองคาย 3.บมจ.ซีพีแลนด์ สนใจลงทุนพัฒนาพื้นที่ใน หนองคาย มุกดาหาร และตราด 4.บง.แอ๊ดวานซ์ สนใจลงทุนพัฒนาพื้นที่ใน จ.หนองคาย และ มุกดาหาร 5.บริษัท ไทยบอนเนต เทรดดิ้งโซน จำกัด (นิคมอุตสาหกรรมบางปู) สนใจลงทุนพัฒนาพื้นที่ใน จ.หนองคาย มุกดาหาร และตราด 6.บริษัท ไทยเวิลด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด สนใจลงทุนพัฒนาพื้นที่ จ.มุกดาหาร
7.บริษัท ริเวอร์เอนจิเนียริ่ง จำกัด สนใจลงทุนพัฒนาพื้นที่ จ.หนองคาย มุกดาหาร และตราด 8.หจก.ตราดโยธาการ สนใจลงทุนพัฒนาพื้นที่ จ.ตราด 9.บริษัท ไอเดีย วิท ไอดู จำกัด สนใจลงทุนพัฒนาพื้นที่ จ.หนองคาย มุกดาหาร และตราด 10.บริษัท พันปี กรุ๊ป (ไทย ลาว กัมพูชา) จำกัด สนใจลงทุนพัฒนาพื้นที่ จ.ตราด 11.บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง (UNIQ) สนใจลงทุนพัฒนาพื้นที่ จ.หนองคาย มุกดาหาร และตราด 12.บมจ.ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม (TFD) สนใจลงทุนพัฒนาพื้นที่ จ.ตราด
13.บริษัท คริสตัล โฟรเซ่นฟูดส์ จำกัด สนใจลงทุนพัฒนาพื้นที่ จ.หนองคาย และมุกดาหาร 14.บริษัท ทีซีซี แอล 1 จำกัด สนใจลงทุนพัฒนาพื้นที่ จ.มุกดาหาร 15.บริษัท กูดวิลล์อินโนเวชั่น จำกัด แอนด์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด สนใจลงทุนพัฒนาพื้นที่ จ.มุกดาหาร 16.บริษัท สุริวงศ์คอมเพล็กซ์ จำกัด สนใจลงทุนพัฒนาพื้นที่ จ.หนองคาย 17.บริษัท แอ๊ดวานซ์ เอ็นเนอร์ส ดีเวลลอปเม้น จำกัด สนใจลงทุนพัฒนาในพื้นที่ จ.หนองคาย 18.บริษัท ทีซีแลนด์ ดีเวลลอปเม้น จำกัด สนใจลงทุนพัฒนาพื้นที่ จ.ตราด และ 19.บริษัท แอ๊ดวานซ์ เอ็นเนอร์ ดีเวลลอปเม้น จำกัด สนใจลงทุนพัฒนาพื้นที่ จ.ตราด
อธิบดีกรมธนารักษ์ ระบุว่า “น่าพอใจมาก เพราะตอนแรกคิดว่ามีไม่ถึง 10 ราย แต่พอสุดท้ายแล้วก็มีเข้ามาเกือบ 20 ราย และเข้ามาทุกพื้นที่ ที่ได้รับความสนใจมาก เพราะเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จัดมาในรอบนี้ได้รับสิทธิพิเศษค่อนข้างมาก ทุกพื้นที่ขนาดใหญ่จะไม่เกิน 1 พันไร่ ได้สิทธิพิเศษทางภาษีครบทุกด้าน ทั้งศุลกากร บีโอไอ และสรรพากร ขณะที่ด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งถนน ไฟฟ้า ประปา ก็ไปจ่อหน้าโครงการหมด ดังนั้นสิทธิที่เขาได้ในครั้งนี้ไม่ต้องไปวิ่งหาที่ไหนเลย การทำโครงการกับภาครัฐก็ได้รับยกเว้นไม่ต้องเข้า พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ คนที่จะได้พื้นที่ไปนั้นขึ้นโครงการได้เลย และได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีครบถ้วน" อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าว
พร้อมระบุว่า หลักเกณฑ์ในการพิจารณาว่าจะให้เอกชนรายใดเป็นผู้ชนะประมูลนั้น จะดูจากรูปแบบโครงการ (Business Model) การจัดพื้นที่ใช้สอยว่าใช้ประโยชน์ด้านใดบ้าง การจัดการสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันจะพิจารณาฐานะทางการเงินของบริษัทด้วย สุดท้ายจะพิจารณาจากราคาที่เสนอมาทั้งในส่วนของค่าเช่า และอัตราผลตอบแทน
“ในพื้นที่จะเปิดให้ทำได้ทั้งนิคมอุตสาหกรรม เกษตรอุตสาหกรรม โลจิสติกส์ และท่องเที่ยว...เราจะพิจารณาจากแผนในการพัฒนาพื้นที่ แผนทางการเงิน การทำธุรกิจต่างๆ และค่อยมาดูเรื่องผลตอบแทนท้ายสุด" อธิบดีกรมธนารักษ์ ระบุ
นายจักรกฤศฎิ์ กล่าวว่า หลังจากที่กรมธนารักษ์ปิดขายซองในวันนี้แล้ว จะให้เวลาบริษัทเอกชน 60 วัน เพื่อกลับไปจัดทำเอกสารรายละเอียดโครงการ หลังจากนั้นเมื่อทุกบริษัทยื่นซองมาแล้ว คณะทำงานจะสรุปเพื่อคัดเลือกบริษัทผู้ที่ชนะการประมูล แล้วนำเสนอรายชื่อให้คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) ได้พิจารณา ก่อนจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นการลงทุนได้หลังจากเดือน ส.ค.เป็นต้นไป