นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวในงานสัมมนา "โอกาสทอง ร้านทองเปลี่ยนผ่านสู่นิติบุคคล" โดยระบุว่า กรมสรรพากรมีนโยบายเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องภาษีอากรและการจัดทำบัญชีเล่มเดียวให้ถูกต้อง รวมทั้งการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการร้านทองเปลี่ยนผ่านจากบุคคลธรรมดาสู่นิติบุคคล เพื่อประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจ และปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้อง จึงขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการร้านทองคำทั้ง 7,000 กว่าแห่งทั่วประเทศที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ให้เข้ามาจดทะเบียนเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ซึ่งผู้ประกอบการร้านทองที่เป็นนิติบุคคล จะได้รับประโยชน์มากกว่าผู้ประกอบการที่เป็นบุคคลธรรมดา ดังนี้
1. ฐานภาษี กรณีเป็นบุคคลธรรมดาเสียภาษีจากฐานเงินได้พึงประเมินสุทธิ ถ้าเป็นนิติบุคคลเสียภาษีจากฐานกำไรสุทธิ ซึ่งจะเสียภาษีต่อเมื่อมีกำไรสุทธิทางภาษีเท่านั้น หากขาดทุนสุทธิไม่ต้องเสียภาษี เช่น ในกรณีที่ราคาทองคำลดลง หรือกรณีร้านทองถูกปล้นจะทำให้สูญเสียทองคำ ถ้าเป็นนิติบุคคลสามารถนำผลขาดทุนจากราคาทอง หรือความสูญเสียจากการถูกปล้นมาลงบัญชีเป็นค่าใช้จ่ายได้ทำให้ลดภาระด้านภาษี ซึ่งสามารถนำผลขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกิน 5 ปี ก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปัจจุบันมาเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ในขณะที่ผู้ประกอบการบุคคลธรรมดาไม่สามารถทำได้
2. อัตราภาษี กรณีบุคคลธรรมดาเสียภาษีตามขั้นบันไดตามเงินได้สุทธิ ตั้งแต่ร้อยละ 5 ถึงร้อยละ 35 แต่นิติบุคคลเสียภาษีจากกำไรสุทธิ ถ้าเป็นนิติบุคคลทั่วไปเสียภาษีทั้งจำนวนในอัตราร้อยละ 20 ส่วนนิติบุคคลที่เป็น SMEs มีกำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาท ได้รับยกเว้นภาษี หากมีกำไรสุทธิเกิน 300,000 บาทขึ้นไป เสียภาษีร้อยละ 10
3. การจัดทำบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชี
- กรณีบุคคลธรรมดา ไม่ต้องจัดทำบัญชีตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ.2543 ทำให้ขาดข้อมูลทางบัญชีในเชิงการบริหารจัดการและการดำเนินธุรกิจ และมีความเสี่ยงตามกฎหมายของกรมสรรพากรเกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญาฐานหลีกเหลี่ยงหรือฉ้อโกงภาษีที่เข้าข่ายกฎหมายฟอกเงินด้วย
- กรณีนิติบุคคล ต้องจัดทำบัญชีตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ.2543 ทำให้มีข้อมูลทางบัญชีที่น่าเชื่อถือในแต่ละธุรกรรมไม่มีความเสี่ยงตามกฎหมายสรรพากรเกี่ยวกับการกระทำความผิดอาญาฐานหลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงภาษีที่เข้าข่ายกฎหมายฟอกเงินด้วย หากทั้งผู้ซื้อและผู้ขายเป็นนิติบุคคล จะช่วยให้ทั้งสองฝ่ายมีหลักฐานที่ถูกต้องทั้งด้านบัญชีและภาษีอากร โดยเฉพาะในฝั่งผู้ซื้อจะมีข้อมูลรายจ่ายที่ถูกต้องสมบูรณ์
4. การจัดทำบัญชีเล่มเดียวให้ถูกต้องสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของกิจการ จะทำให้รู้สภาพปัจจุบันของธุรกิจ ด้านกำไร ขาดทุน ต้นทุน ช่วยแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายได้ตรงจุด เป็นข้อมูลที่น่าเชื่อถือในการขอกู้เงินจากธนาคาร ช่วยลดต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายจากการสนับสนุนของภาครัฐและภาคธนาคาร และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ผู้ประกอบการต้องใช้บัญชีและงบการเงินที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแสดงต่อกรมสรรพากร เป็นหลักฐานในการทำธุรกรรมทางการเงิน และขออนุมัติสินเชื่อกับสถาบันการเงินด้วย
5. ความรับผิดในหนี้ กรณีบุคคลธรรมดา บุคคลที่เป็นเจ้าของต้องรับผิดไม่จำกัด ส่วนนิติบุคคล กรณีที่เป็นบริษัทจำกัด ผู้ถือหุ้นทุกคนมีความรับผิดจำกัด เพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ยังส่งใช้ไม่ครบตามมูลค่าของหุ้นที่ถือ แต่ถ้าเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีทั้งหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด และหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด
6. ในปี พ.ศ.2559 กระทรวงการคลังจะนำระบบการชำระเงินแบบอิเล็คทรอนิคส์ (e - Payment) มาใช้ในประเทศไทย โดยจะเริ่มเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนในระบบ e – Payment ที่ธนาคารของรัฐทุกแห่ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2559 เป็นต้นไป ซึ่งระบบนี้จะช่วยให้กรมสรรพากรสามารถเชื่อมโยงข้อมูลทุกรายการที่มีการซื้อและขาย ทำให้สามารถประเมินถึงรายรับและรายจ่ายของผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบการจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงภาษีได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่สรรพากรก็จะมีข้อมูลจริงของผู้ประกอบการมากขึ้น