สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) รายงานสรุปผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย โดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Rating and Investment Information, Inc. (R&I) ว่า เมื่อวันที่ 17 พ.ค.59 R&I ได้ยืนยันอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้รัฐบาลสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Issuer Rating) ที่ระดับ BBB+ และสกุลเงินบาท (Domestic Currency Issuer Rating) ที่ระดับ A- และคงอันดับความน่าเชื่อถือหนี้รัฐบาลระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศ ที่ระดับ a-2 รวมทั้งคงสถานะแนวโน้มความน่าเชื่อถือของประเทศไทยไว้ที่ระดับเป็นลบ (Negative Outlook)
ผลการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้สกุลเงินต่างประเทศ และสกุลเงินบาทที่ระดับ BBB+ และ A- ตามลำดับ สะท้อนจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ดูเหมือนว่าจะมีเสถียรภาพภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลทหาร โดยโครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยยังคงมีความแข็งแกร่งในภาคอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และรถยนต์
โดย R&I คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของไทยยังคงขยายตัวได้ในระดับปานกลาง ประกอบกับการดำเนินนโยบายการคลังอย่างรอบคอบและอนุรักษ์นิยม ส่งผลให้รัฐบาลสามารถใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยไม่มีผลกระทบต่อหนี้สาธารณะ โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2558 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ซึ่งนับรวมหนี้ของรัฐวิสาหกิจ อยู่ที่ 43% ซึ่งกรอบวินัยทางการคลังกำหนดเพดานหนี้สาธารณะไว้ไม่เกิน 60% อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังประมาณการว่าสัดส่วนดังกล่าวในระยะปานกลางจะไม่เกิน 50%
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ดำเนินนโยบายที่สำคัญ ได้แก่ การปฏิรูประบบภาษีเพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และลดความไม่เท่าเทียมด้านรายได้ ประกอบกับยังได้เริ่มโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ล่าช้า เนื่องจากความไม่สงบทางการเมือง
สำหรับแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือที่ R&I ยังคงให้เป็น "ลบ" เนื่องจากปัจจัยทางการเมือง และปัจจัยทางเศรษฐกิจและการคลัง โดย R&I ยังคงติดตามสถานการณ์ทางการเมืองว่ายังคงมีเสถียรภาพต่อเนื่องไปจนถึงวาระที่ประเทศไทยกลับเข้าสู่การปกครองภายใต้รัฐบาลพลเรือน รวมทั้งผลการลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นอย่างเร็วที่สุดประมาณปลายปี 2560 นอกจากนี้ R&I ยังคงติดตามว่า รัฐบาลจะสามารถดำเนินการปฏิรูปการเมืองและมีการเปลี่ยนผ่านไปสู่การปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์ ที่จะนำไปสู่ความมีเสถียรภาพทางการเมืองในระยะปานกลางถึงระยะยาวได้หรือไม่
ส่วนปัจจัยทางเศรษฐกิจและการคลังนั้น แม้ว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล สัดส่วนหนี้ต่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 30% ของ GDP และมีทุนสำรองระหว่างประเทศประมาณ 3 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น แต่เนื่องจากอุปสงค์ต่างประเทศยังคงฟื้นตัวช้า เศรษฐกิจของไทยจึงต้องพึ่งพาอุปสงค์ภายในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะการลงทุนภาครัฐ
อย่างไรก็ดี R&I เห็นว่าการที่รัฐบาลดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลที่ 2.8% ของ GDP ในปีงบประมาณ พ.ศ.2559 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐ แต่เนื่องจากแหล่งเงินทุนสำหรับใช้ในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐมาจากการกู้เงินของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งอยู่นอกงบประมาณ ดังนั้นควรจะต้องมีการติดตามฐานะการคลังของภาครัฐอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังประสบปัญหาการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอนาคต จึงไม่สามารถพึ่งพาแรงงานในประเทศได้ ประเทศไทยจึงควรหามาตรการเร่งด่วนในการเพิ่มศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เช่น การปรับปรุงระบบโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูง เป็นต้น